พม.ร่วมวิพากษ์ร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย “อดุลย์” มอบนโยบายทิศทางยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความไม่มั่นคงในด้านการอยู่อาศัย สอดคล้องนโยบายการบริหาร และการพัฒนา เน้นการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ และผู้พิการ เร่งพัฒนาคุณภาพชีวิต ทุกกลุ่มเป้าหมาย หวังเกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน
พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว. พม.) กล่าวภายหลังการเป็นประธานการประชุมวิพากษ์ ร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ว่า ได้มอบนโยบายทิศทางยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี เพื่อกำหนดแนวทางพัฒนาเชิงรุก พัฒนาสังคมเชิงบูรณาการของหน่วยงานใน พม. และหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับภูมิภาค และท้องถิ่นตามแนวทาง “ประชารัฐ” ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบายการบริหารและการพัฒนา ที่เน้นเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ทุกกลุ่มเป้าหมาย และเพื่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ในการแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงในการอยู่อาศัยให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย ระยะ 20 ปี
ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน กรุงเทพมหานคร กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ การไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง เป็นต้น หน่วยงานภาคเอกชน อาทิ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซีจี ซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด เป็นต้น และหน่วยงานภาคประชาสังคม อาทิ มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิอิสรชน มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และนายสุชิน เอี่ยมอินทร์ (ลุงดำ) นายกสมาคมคนไร้บ้าน เป็นต้น
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า ที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่ทุกคน และทุกครอบครัว ต้องการความมั่นคง และความปลอดภัยจากการอยู่อาศัย เป็นสถานที่ที่รวมความเป็นครอบครัวให้เป็นหนึ่งเดียว หล่อหลอมสมาชิกในสังคม เป็นจุดที่เล็กที่สุดในสังคม มีการถ่ายทอดวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ปลูกฝังนิสัย เจตคติ ค่านิยมให้แก่ทุกคน โดยนโยบายในระดับสากล และในระดับประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการ และพัฒนาที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับคุณภาพชีวิต และการสร้างเมืองสุขภาวะ (Healthy Cities) เน้นการป้องกัน และแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน จากกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย และทุกระดับ ปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยมีปัญหาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะแนวโน้มการเจริญเติบโต และการขยายตัวของเมืองในอนาคตที่เพิ่มขึ้น จะก่อให้เกิดความแออัด ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และปัญหาชุมชนแออัด ชุมชนบุกรุก กระจัดกระจายในเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ เนื่องจากขาดการจัดการด้านที่ดินอย่างเหมาะสม ที่สามารถรองรับในการอยู่อาศัยของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ตลอดจนความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ ความไม่เท่าเทียมในการพัฒนาระหว่างพื้นที่ที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อยทั้งสิ้น
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อว่า ในช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น อาทิ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประกอบกับทิศทางการพัฒนาระดับโลก ได้แก่ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal : SDGs) และวาระใหม่แห่งการพัฒนาเมือง (New Urban Agenda : NUA) ร่วมกับนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม และการสร้างโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการสังคม และที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย
“ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย ซึ่งปัจจุบัน ความต้องการด้านที่อยู่อาศัย ยังประสบปัญหา คือ การขาดแคลน หรือความไม่เพียงพอต่อความต้องการที่อยู่อาศัยของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย มีที่อยู่อาศัยที่ไม่ได้มาตรฐาน การขาดแคลนความมั่นคงในการถือครองที่ดิน หรือการไม่มีกรรมสิทธิ์ในการอยู่อาศัย รวมถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ยิ่งสูงความต้องการที่อยู่อาศัยก็ยิ่งมากขึ้น
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ตระหนักถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงได้ดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ขึ้น โดยสานต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยทั่วประเทศตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี (พ.ศ. 2559-2568) เพื่อใช้เป็นกรอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะยาว และเสริมสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย และครอบคลุมในทุกมิติ ภายใต้วิสัยทัศน์
“คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่ว และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579 : SMART Housing” ซึ่งบูรณาการความร่วมมือในการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน โดยมีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ด้านที่อยู่อาศัย ที่มุ่งเน้นให้มีปริมาณที่อยู่อาศัย ที่กลุ่มเป้าหมายรับภาระได้อย่างเพียงพอ ประชาชนมีความมั่นคงในการอยู่อาศัย ที่อยู่อาศัยมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ถูกสุขลักษณะ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี รวมทั้ง มีการบริหารจัดการด้านการอยู่อาศัยที่มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน
ทั้งนี้ ความร่วมมือเกี่ยวกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มีประสิทธิภาพ และการสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยให้กับประชาชน จึงเป็นอีกหนึ่งมิติของความร่วมมือที่สมควรให้การสนับสนุน และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลลัพธ์สุดท้ายของความร่วมมือดังกล่าวจะนำมาซึ่งการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ถูกสุขลักษณะ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี ลดความเหลื่อมล้ำ และเกิดความเป็นธรรมในสังคมมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับภาพรวมทิศทางการพัฒนาที่เป็นไปตามสถานการณ์ปัจจุบันอย่างเป็นรูปธรรม” พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าว