2 ผู้ถือหุ้นใหญ่ เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ยืนกรานปฏิเสธกระแสข่าวลือฉาว “เกาเหลาไม่กินเส้น” ที่สะพัดก่อนหน้านี้ ยัน 2 ตระกูลใหญ่ “คำดี” และ “พิหเคนทร์” แบ่งเค้กกันลงตัว พร้อมร่วมกันทำธุรกิจภายใต้การดำเนินงานของบริษัทต่อไป
นายขจรพงศ์ คำดี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH ซึ่งถือหุ้นใหญ่ของบริษัทอยู่ที่ 8.80% หรือคิดเป็นจำนวน 311,304,391 หุ้น เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทฯ ปัจจุบันนี้อยู่ 2 ตระกูล คือ ตระกูลคำดี และตระกูลพิหเคนทร์ ซึ่งกระแสข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ว่า ทั้ง 2 ตระกูลเกิดขัดแย้งด้านความเห็นในการดำเนินธุรกิจของบริษัท และผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวนั้น จนทำให้ตนเองต้องถอยออกมาจากบริษัทฯ ตามกระแสข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้นั้น ตนขอชี้แจงว่า ทั้ง 2 ตระกูลไม่ได้มีปัญหาขัดแย้งกัน ซึ่งยังคงร่วมมือกันดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ตามปกติ และไม่มีปัญหาต่างๆ ในการดำเนินงานร่วมกัน
ส่วนกระแสข่าวที่ว่า ตนจะขายหุ้นของบริษัทฯ ออกมาเพื่อนำเงินที่ได้ไปลงทุนในธุรกิจใหม่นั้น ยอมรับว่าตนเองมีการวางแผนที่จะมีการลงทุนธุรกิจส่วนตัวในรูปของธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ในบริษัท ฮอลิวู้ดส์ มูฟวี่ฟ์ จำกัด ซึ่งเตรียมที่จะนำบริษัทดังกล่าวเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี ภายในปีนี้ แต่ถึงกระนั้นก็ยังจะร่วมกันทำธุรกิจพลังงานกับบริษัทฯ เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ต่อไป
“ผม และตระกูลพิหเคนทร์ ไม่ได้มีความขัดแย้งกันจนเป็นปัญหาที่จะทำงานไม่ได้ตามที่มีข่าวออกมา โดยเรายังคงทำงร่วมกัน ส่วนกระแสข่าวที่ว่า ผมจะขายหุ้นบริษัทออกไปนั้น ยืนยันว่าผมไม่มีความคิดที่จะขายหุ้นบริษัทฯ ออกไป โดยทั้ง 2 ตระกูลจะยังคงรักษาสัดส่วนการถือหุ้นร่วมกันไว้ที่ 30% แม้ว่าอาจจะมีสัดส่วนการถือหุ้นลดลง เพราะถูก Force sell ออกมา แต่ก็จะพยายามรักษาสัดส่วนการหุ้นไม่ให้น้อยกว่าที่มีอยู่”
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของราคาหุ้นบริษัทฯ ที่มีการปรับลดลงอย่างมากในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น มองว่าสาเหตุหลักมาจากมุมมองบทวิเคราะห์การลงทุนของบริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศที่ระบุว่า ธุรกิจถ่านหินเข้าสู่ช่วงตกต่ำ และราคาถ่านหินมีแนวโน้มลดลง ทำให้ธุรกิจถ่านหินจะมีผลกระทบในด้านผลการดำเนินงานที่ลดลงตามภาพรวมอุตสาหกรรม ซึ่งจากบทวิเคราะห์ที่ออกมาส่งผลให้นักลงทุนเกิดความกังวลใจ โดยเฉพาะนักลงทุนที่ถือหุ้นบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานถ่านหิน จนทำทำให้มีแรงเทขายหุ้นออกมาเป็นจำนวนมาก และต่อมามีการขายหุ้นบริษัทฯบนกระดานซื้อขาย Futures ในต่างประเทศของนักลงทุนกลุ่มหนึ่ง ทำให้ราคาหุ้นของบริษัทฯ ร่วงลงไปกว่าเดิมอย่างมาก อีกทั้งยังมีการขาย Force sell ออกมาจากการที่ตนเองนำหุ้น ไปค้ำประกันบัญชีมาร์จิ้น เพื่อนำเงินจำนวน 1,000 ล้านบาท มาลงทุนในธุรกิจส่วนตัว โดยหุ้นที่ถูก Force sell ออกมาคิดเป็นสัดส่วน 15% ของมูลค่าหุ้น
“ซึ่งหากว่า Force sell ได้หมดไปแล้ว ราคาหุ้นจะบวกกลับขึ้นมา โดยกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ทั่งสองตระกูลยังมีสัดส่วนการถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่า 30% จากเดิมก่อนที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลง และเกิดการ Force sell จะอยู่ที่ประมาณ 45% ซึ่งหากผมนำเงินไปชำระหนี้บัญชีมาร์จิ้นได้ และมีสถานะทางการเงินที่เพียงพอ คาดว่านักลงทุนจะมีความสนใจจะเข้ามาลงทุนซื้อสะสมหุ้นของบริษัทฯ เพิ่ม ทั้งในกระดาน และการซื้อหุ้นคืน”
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีการเจรกับพันธมิตนในประเทศที่สนใจเข้ามาถือหุ้นของบริษัท จำนวน 2-3 ราย ซึ่งจะมาเสริมศักยภาพการเติบโตของบริษัท (Strategic Partner) โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการไห้เวลาพันธมิตรศึกษา และทำความเข้าใจธุรกิจของบริษัทก่อนตัดสินใจลงทุน ขณะเดียวกัน ก็อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการดึงพันธมิตรเข้ามา ทั้งการออกหุ้นเพิ่มทุนเสนอขายให้กับนักลงทุนเฉพาะเจาะจง (PP) หรือการให้พันธมิตรเข้ามาซื้อหุ้นในกระดานหลัก แต่ยืนยันว่าจะไม่มีการขายแบบบิ๊กลอต เพราะกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมต้องการรักษาสัดส่วนการถือหุ้นไว้ โดยคาดว่ามีโอกาสที่จะได้เห็นความชัดเจนภายในปีนี้
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน บริษัทมีหนี้สินรวมทั้งสิ้นราว 2.2 หมื่นล้านบาท เป็นวงเงินกู้จากสถาบันการเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท หุ้นกู้ 5.5 พันล้านบาท และมีหนี้ตั๋วแลกเงิน (B/E) เหลืออยู่ประมาณ 1 พันล้านบาท คาดว่าไม่มีปัญหาในการชำระ โดยขณะนี้บริษัทมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 2.3 เท่า ซึ่งบริษัทตั้งเป้ารักษาระดับ D/E ให้ไม่เกิน 2.5 เท่า ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 60 จะยังคงมีกำไร แม้ว่าไตรมาส 1/60 จะมีผลการดำเนินงานขาดทุนก็ตาม โดยมีความเสี่ยงสำคัญเพียงอย่างเดียว คือ อัตราแลกเปลี่ยนที่ทำให้ผลการดำเนินไตรมาส 1/60 ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน และในส่วนของหุ้นกู้ที่ออกเป็นสกุลบาท เมื่อเงินบาทแข็งค่า ทำให้บริษัทต้องมีการบันทึกทางบัญชีว่า ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนมูลค่า 215 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการขาดทุนทางบัญชี แต่ถือว่าไม่มีผลต่อกระแสเงินสดของบริษัท
“เชื่อว่าในระยะต่อไปรัฐบาลจะเข้ามาดูแลค่าเงินบาท เพื่อช่วยเหลือธุรกิจส่งออก โดยการที่บริษัทจะมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนได้นั้น ค่าเงินบาทต้องอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 35.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และเราก็ไม่เลือกวิธีที่จะทำสัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เนื่องจากดอกเบี้ยจ่ายจะเพิ่มขึ้น และต้องล็อกค่าเงินเป็นระยะเวลา 3 ปี หากค่าเงินบาทเกิดอ่อนค่า บริษัทจะต้องเสียเงินส่วนที่เกินเพิ่มเติม”
ทั้งนี้ บริษัทฯ ประเมินภาพรวมธุรกิจในปีนี้โดยตั้งเป้าปริมาณการจัดจำหน่ายถ่านหินจะเติบโตแบบก้าวกระโดดอยู่ที่ 15 ล้านตัน ส่วนรายได้จากการขายถ่านหิน ตั้งเป้าไว้ที่ 30,000 ล้านบาท หรือเติบโตไม่ต่ำกว่า 50% สาเหตุมาจากกลุ่มบริษัทได้รับคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้น ด้านทิศทางราคาถ่านหินปีนี้ คาดการณ์ว่าน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 20% จากปี 2559 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 55-60 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ส่วนบริษัทย่อย Guangdong EnergyEarth Co.,Ltd. ที่ประกอบธุรกิจรวบรวมถ่านหินภายในประเทศจีนจัดส่งให้กับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ของรัฐบาลจีน ในปีนี้คาดว่าบริษัทย่อยจะมีรายได้ประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้ 5,000 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างทำการประเมินมูลค่าสินทรัพย์เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ซึ่งได้จัดตั้งที่ปรึกษาทางการเงินแล้ว คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปี 2561