ที.ซี.เจ เอเซีย ทะยานปีนี้รายได้โตไม่ต่ำกว่า 10% หลังผู้ถือหุ้นไฟเขียวเพิ่มทุนขาย RO อัตรา 4:1 ที่ราคา 10 บาทต่อหุ้น แถมฟรีวอร์แรนต์ 1:2 กำหนดจองซื้อขาย 22-26 พฤษภาคม 2560 ด้านผู้บริหารหวังนำเงินมารองรับการขยายธุรกิจให้สอดคล้องบิ๊กโปรเจกต์ภาครัฐ และโครงการ EEC แย้มพร้อมลุยประมูลงานตกแต่งสถานีรถไฟฟ้าเพิ่ม จากล่าสุด คว้ามาแล้วทั้งหมด 4 สัญญา มูลค่า 150-200 ล้านบาท มั่นใจบุ๊กได้ทั้งหมดภายในปี 2561
ดร.ทรงวุฒิ ไกรภัสสร์พงษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ที.ซี.เจ เอเซีย จำกัด (มหาชน) หรือ TCJ เปิดเผยว่า เมื่อปลายเดือนเมษายน 2560 ที่ผ่านมา ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทอีกจำนวน 65.82 ล้านหุ้น โดยจัดสรรไม่เกิน 21.94 ล้านหุ้น ขายให้ผู้ถือหุ้นเดิม (RO) ในอัตราส่วน 4 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ที่ราคาหุ้นละ 10 บาท ซึ่งกำหนดจองซื้อวันที่ 22-26 พฤษภาคม 60 โดยการเพิ่มทุนครั้งนี้เพื่อนำเงินไปใช้รองรับการขยายตัวทางธุรกิจที่มีโอกาศเติบโตหลายเท่าตัว ตามปริมาณงานก่อสร้างที่กำลังเพิ่มขึ้นตามโปรเจกต์งานโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐบาล และโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) และยังสำรองใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนด้วย
ทั้งนี้ หุ้นเพิ่มทุนที่เหลือไม่เกิน 43.88 ล้านหุ้น จะใช้รองรับใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ (วอร์แรนต์) TCJ-W2 ที่จะออกจำนวน 43.88 ล้านหน่วย จัดสรรให้ฟรีแก่ผู้ถือหุ้นเดิมที่ใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนในอัตราส่วน 1 หุ้นเพิ่มทุนต่อ 2 วอร์แรนต์ โดยวอร์แรนต์มีอายุ 3 ปี กำหนดอัตราการใช้สิทธิ 1 วอร์แรนต์ต่อ 1 หุ้น ที่ราคาหุ้นละ 10 บาท โดยภายหลังการเพิ่มทุนจะทำให้บริษัทมีทุนจดทะเบียนเพิ่มเป็น 1.54 พันล้านบาท จากเดิม 877.60 ล้านบาท
สำหรับภาพรวมในปีนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% จากปีก่อนที่มีรายได้ 1,245.38 ล้านบาท โดยคาดผลการดำเนินงานปีนี้จะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน บริษัทมีต้นทุนทางการเงินที่แข็งแกร่ง มีการบริหารจัดการที่ดี ทั้งการบริหารจัดการภายในองค์กร รวมถึงกับสถาบันการเงิน ทำให้ขณะนี้บริษัทมีความพร้อมที่จะผลักดัน และยกระดับธุรกิจให้เติบโต และสร้างผลตอบแทนให้กับกลุ่มผู้ถือหุ้นสูงสุด ประกอบกับ ธุรกิจคาดจะเติบโตในทุกๆ ภาคส่วนโดย “ธุรกิจเครื่องจักรกลหนัก” ที่ดำเนินงานโดยบริษัทย่อยอย่าง “บริษัท บิ๊กเครน แอนด์ อิควิปเม้นต์ เร้นทัลส์ จำกัด” ผู้นำธุรกิจให้เช่าเครื่องจักกลหนัก รถยก เครน รถบรรทุกติดเครน ในปี 2560 จะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เพราะมีโอกาสรับงานจากกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ ที่ได้รับโปรเจกต์งานโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น ITD, STEC, UNIQ และ CK ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฐานลูกค้าของบริษัทอยู่แล้ว
ส่วนธุรกิจจำหน่ายเครื่องจักรกลหนัก ก็เห็นสัญญาณการเติบโตเช่นเดียวกัน ซึ่ง TCJ ได้รับการแต่งตั้งจาก KION ให้เป็นตัวแทนผลิตภัณฑ์รถยกที่มีคุณภาพสูงชื่อว่า “STILL” จากประเทศเยอรมนี ตั้งแต่ปี 2554 ให้เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยก และยานยนต์อุตสาหกรรม เพื่อการจัดการสินค้า แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ทั้งนี้ ตราสินค้า STILL เป็นตราสินค้าที่มีคุณภาพสูง และมีนวัตกรรมด้านการประหยัดเชื้อเพลิง และการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และอยู่ภายใต้ KION GROUP ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผลิตรถยกรายใหญ่อันดับหนึ่งของทวีปยุโรป
ด้าน “ธุรกิจท่อเหล็กกล้าไร้สนิม” ดำเนินการโดย “บริษัท โตโย มิลเลนเนียม จำกัด หรือ TOYO” ผู้ดำเนินธุรกิจผลิต และจำหน่ายท่อเหล็กกล้าไร้สนิม ซึ่ง TCJ ถือหุ้น 51% นั้น ในปี 2560 จะได้รับอานิสงส์งานโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงจะได้รับประโยชน์นโยบายให้เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (มาตราการ AD) ด้วย ทำให้ความต้องการในประเทศยิ่งเพิ่มขึ้น ล่าสุด TOYO มีออเดอร์ล่วงหน้าถึงเดือนตุลาคม 2560 แล้ว
นอกจากนี้ สืบเนื่องจากตามคำร้องของบริษัทย่อยต่อกระทรวงพาณิชย์ โดยคณะกรรมการปกป้องการทุ่มตลาด และการอุดหนุน ได้ใช้มาตรการปกป้องการทุ่มตลาด (Anti-Dumping Measures) ต่อประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน และเวียดนาม ส่งผลดีต่อบริษัทย่อยที่ผลิตท่อเหล็กกล้าไม่เป็นสนิมที่เคยถูกทุ่มตลาดมาโดยตลอด ให้ได้มีขีดความสามารถทางการแข่งขันเพิ่มขึ้น ผลประกอบการของบริษัทย่อยนี้ จึงดีขึ้นตามไปด้วย
อีกทั้ง TOYO ยังมีแผนขยายตลาดต่างประเทศมากขึ้นด้วย ผ่านตัวแทนจำหน่ายในประเทศนั้นๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน
“TCJ มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมเหล็กเป็นเวลานาน ดังนั้น บริษัทจึงมีฐานลูกค้าทั้งที่เป็นผู้ขายส่ง และลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการขึ้นรูป (Fabricator) อยู่เป็นจำนวนมากแล้ว บริษัทยังทราบถึงความต้องการใช้เหล็กแผ่นของลูกค้าแต่ละรายในแต่ละช่วงเวลา ทำให้สามารถจัดหามาจำหน่ายในจำนวนที่ลูกค้าต้องการได้” ดร.ทรงวุฒิ กล่าว
ดร.ทรงวุฒิ กล่าวอีกว่า บริษัทยังเตรียมเข้าร่วมประมูลงานตกแต่งสถานีรถไฟฟ้าหลายสาย โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในไม่ช้านี้
ล่าสุด เมื่อปี 2558-2559 บริษัทฯ ได้เข้าทำสัญญารับงานตกแต่งสถานีรถไฟฟ้า บนดิน และใต้ดิน ทั้งหมด 4 สัญญา ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าบนดินสายสีน้ำเงิน โครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย และโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง มูลค่ารวมประมาณ 150-200 ล้านบาท ในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 มีการส่งมอบงานไปแล้ว 32.5% โดยคาดว่าจะส่งมอบได้ทั้งหมดในปี 2561
ดร.ทรงวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทยนั้น ไม่น่ากังวล เนื่องจากมีผู้ประกอบการที่เป็นผู้จำหน่ายเหล็กแผ่นให้กับลูกค้าอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ด้วยเหล็กแผ่นไร้สนิมรีดร้อน และเหล็กแผ่นไร้สนิมรีดเย็น เป็นสินค้าเหล็กแผ่นที่มีคุณสมบัติเฉพาะ และมีผู้จัดจำหน่ายไม่มากราย จึงไม่พบกับภาวะแข่งขันที่รุนแรง เพราะการกำหนดราคาเหล็กชนิดพิเศษเหล่านี้เป็นไปตามกลไตลาดโลกมากกว่าที่จะมาจากการตัดราคา เพื่อแข่งขันกันเองของผู้จำหน่ายในประเทศ