รมว.คลัง ฝากแบงก์พาณิชย์ปรับส่วนต่างดอกเบี้ยรายใหญ่-รายย่อยสร้างความเท่าเทียมด้านต้นทุน
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ฝากธนาคารพาณิชย์ช่วยพิจารณาเรื่องส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อยให้มีความเหมาะสม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น ซึ่งช่วยสร้างความเท่าเทียมในเรื่องต้นทุนการประกอบธุรกิจ และช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยมีต้นทุนทางการเงินที่สามารถแข่งขันกับรายใหญ่ได้
รมว.คลัง ระบุว่า ต้นทุนทางการเงินที่ผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มได้รับถือเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ แต่ในปัจจุบันจะพบว่า อัตราดอกเบี้ยของแต่ละธนาคารพาณิชย์ที่ให้ระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่กับผู้ประกอบการรายย่อยยังมีส่วนต่างค่อนข้างสูง
“ขอฝากให้ธนาคารไปช่วยดู เราอยากจะสร้างความเท่าเทียมกันให้เกิดขึ้น คงต้องมาคิดว่า จะทำอย่างไรถึงจะช่วยให้รายเล็กอยู่รอดได้เมื่อเทียบกับบริษัทใหญ่ ให้เขามีต้นทุนทางการเงินที่สามารถแข่งขันได้” รมว.คลัง กล่าวในระหว่างการเปิดงาน Money Expo 2017
ด้าน นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า จากที่ รมว.คลังมีนโยบายให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาปรับลดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่อรายใหญ่ หลังมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหลายรายไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ โดยในส่วนของธนาคารได้มีการใช้อัตราดอกเบี้ยพิเศษกับลูกค้าเอสเอ็มอีผ่านการทำแคมเปญต่างๆ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของลูกค้ารายใหญ่ถือว่าอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ธนาคารจะพิจารณาปรับลดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยตามความเหมาะสมแบบค่อยเป็นค่อยไปผ่านการทำแคมเปญต่างๆ และยอมรับว่า อาจมีผลกระทบต่อรายได้จากดอกเบี้ยให้ปรับลดลง แต่ธนาคารก็จะมีวิธีการอื่นๆ ในการลดต้นทุน เช่น การลดต้นทุนทางด้านทรัพยากรมนุษย์โดยการพัฒนาระบบไอที ประกอบกับ การเน้นให้ลูกค้าหันมาใช้บริการผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นการลดต้นทุนที่ดี รักษาระดับผลการดำเนินงานไม่ให้ลดลง และรักษาผลประโยชน์ให้กับผู้ถือหุ้น
นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า การลดดอกเบี้ยก็เป็นเรื่องที่ดี แต่จะส่งผลเสียต่อระบบหากเปิดกว้างมากเกินไป เพราะทุกคนจะแห่เข้ามาขอสินเชื่อ ซึ่งทำให้โอกาสที่ธนาคารได้ลูกค้าที่ไม่มีคุณภาพเข้ามา และมีโอกาสเป็นหนี้เสียเพิ่มได้ในอนาคต
ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยของธนาคารได้มีการปรับลดมานานแล้ว โดยสินเชื่อบุคคลได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 9% จากเดิมที่ 28% ขณะที่สินเชื่อบ้านใหม่คิดอัตราดอกเบี้ยที่ 3.33% และสินเชื่อรีไฟแนนซ์ 3.49% เพื่อเป็นการกระตุ้น และดึงดูดลูกค้า พร้อมกับเป็นการช่วยเหลือลูกค้าให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน แต่ธนาคารยังคัดกรองเลือกลูกค้าที่มีคุณภาพ เพื่อป้องกันความเสี่ยงหนี้เสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต