xs
xsm
sm
md
lg

สบน.แจงหนี้ประเทศสิ้นเดือน มี.ค. อยู่ที่ 6.16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 42.27% ของจีดีพี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สบน.แจงหนี้ประเทศสิ้นเดือน มี.ค. อยู่ที่ 6.16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 42.27% ของจีดีพี ขยับเพิ่มจากเดือนก่อน 7.63 หมื่นล้านบาท หลังหนี้รัฐบาลพุ่งเฉียดแสนล้าน ด้าน สคร.โอดรัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายอืด 6 เดือน อยู่ที่ 6.35 หมื่นล้านบาท รฟท.-บินไทย แชมป์ผลงานแป้ก

นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า หนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มี.ค.2560 อยู่ที่ 6.16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 42.27% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) โดยเพิ่มขึ้น 7.63 หมื่นล้านบาท จากเดือนก่อนหน้า

ทั้งนี้ แบ่งเป็นหนี้รัฐบาลอยู่ที่ 4.72 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.07 หมื่นล้านบาท เนื่องจากกระทรวงการคลังได้ดำเนินการกู้เงินตามแผนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2560 และการกู้เงินเพื่อบริหารหนี้สาธารณะ วงเงิน 6 หมื่นล้านบาท เป็นต้น

ขณะที่หนี้ของรัฐวิสาหกิจ อยู่ที่ 9.62 แสนล้านบาท ลดลง 9.58 พันล้านบาท เนื่องจากหนี้ในประเทศลดลง 3.14 พันล้านบาท และหนี้ต่างประเทศลดลง 6.44 พันล้านบาท ส่วนหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) อยู่ที่ 4.55 แสนล้านบาท ลดลง 4.89 พันล้านบาท เนื่องจากการชำระคืนต้นเงินกู้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐอยู่ที่ 1.94 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 76.33 ล้านบาท เนื่องจากสำนักงานธนานุเคราะห์ได้มีการเบิกจ่ายเงินกู้มากกว่าการชำระคืนต้นเงินกู้

โดยหนี้สาธารณะ 6.16 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ในประเทศ 5.82 ล้านล้านบาท หรือ 94.90% และหนี้ต่างประเทศ 3.14 แสนล้านบาท หรือ 5.10% ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด

นายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวถึงภาพรวมการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 (ต.ค.59-มี.ค.60) อยู่ที่ 6.35 หมื่นล้านบาท หรือ 20% ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 7.81 หมื่นล้านบาท จากงบลงทุนทั้งหมดที่ 3.42 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ยอมรับว่ายังมีรัฐวิสาหกิจอีก 2 แห่ง ที่ยังต้องมีการติดตาม และเร่งรัดการเบิกจ่ายอย่างใกล้ชิด ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ตามแผนเดิมถึงเดือน มี.ค. 2560 จะต้องเบิกจ่ายสะสมให้ได้ 1.74 หมื่นล้านบาท แต่ทำได้เพียง 1.18 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 5 พันกว่าล้านบาท และ บมจ.การบินไทย ที่ในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เบิกจ่ายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากกระบวนการตรวจรับเครื่องบินมีความล่าช้ากว่ากำหนด

สำหรับภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของรัฐวิสาหกิจในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 อยู่ที่ 9.63 หมื่นล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 8.34 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 74% ของเป้าหมายที่ 8.79 หมื่นล้านบาท โดยในปีนี้ตั้งเป้าหมายการจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 1.31 แสนล้านบาท ซึ่งมั่นใจว่ารัฐวิสาหกิจจะสามารถจัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมายอย่างแน่นอน

โดยในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา รัฐวิสาหกิจสามารถจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 2.65 หมื่นล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 2.02 หมื่นล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น