กรุงศรี ชี้เฟดคงดอกเบี้ยตามคาด แต่ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไปกลางปีนี้ ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น และทำให้ยังมีเงินทุนไหลเข้าประเทศเกิดใหม่ไม่ยั่งยืน
ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)(BAY) มีความเห็นต่อผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มีมติคงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ในช่วงเป้าหมายที่ 0.75-1.00% ตามความคาดหมาย โดยเฟด ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในไตรมาสแรก และเน้นย้ำถึงความแข็งแกร่งของตลาดแรงงาน พร้อมระบุว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภค และการลงทุนทางธุรกิจอยู่ในระดับแข็งแกร่ง ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ใกล้กับระดับเป้าหมายของเฟด โดยสัญญาณล่าสุด บ่งชี้ว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้
ขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าสู่ระดับ 34.57 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังเปิดการซื้อขายเช้านี้ เทียบกับ 34.48 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวานนี้ (3 พ.ค.) ท่ามกลางแรงซื้อกลับเข้ามาในเงินดอลลาร์สหรัฐทั่วโลก โดยดอลลาร์สหรัฐแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 6 สัปดาห์ เมื่อเทียบกับเงินเยน หลังแถลงการณ์ของเฟด ล่าสุด บ่งชี้ถึงความน่าจะเป็นที่นักค้าเงินประเมินไว้สำหรับการขึ้นดอกเบี้ย เดือนมิถุนายน พุ่งขึ้นสู่ระดับ 80% ทั้งนี้ ท่าทีของเฟด สนับสนุนการคาดการณ์ของกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ที่ว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 13-14 มิถุนายน และจะปรับขึ้นอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปีในเดือนธันวาคม
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยชี้นำสำคัญของทิศทางดอกเบี้ยเฟด จะอยู่ที่การรายงานข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนเมษายน ของสหรัฐฯ ในวันที่ 5 พฤษภาคม หลังจากตัวเลขเดือนมีนาคม ออกมาแย่กว่าคาด ทั้งนี้ เป็นเรื่องท้าทายอย่างมากที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า เนื่องจากความไม่ชัดเจนด้านนโยบายเศรษฐกิจ และมาตรการด้านการคลังของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทรัมป์ นอกจากนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ กล่าวชัดเจนว่า ไม่ต้องการให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า เนื่องจากเกรงว่าจะเสียเปรียบด้านการค้ามากยิ่งขึ้นกับประเทศคู่แข่งของสหรัฐฯ
ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ช่วงอายุ 10 ปี หรือมากกว่า ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากรัฐบาลทรัมป์ จำเป็นต้องระดมทุนจากตลาดเป็นจำนวนเงินมาก หากจะเดินหน้าโครงการปฏิรูปภาษี และการลงทุนขนาดใหญ่ โดยตลาดจะให้ความสนใจต่อการแก้ไขร่างกฎหมายสาธารณสุขว่า สภาผู้แทนสหรัฐฯ จะสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้หรือไม่
ทั้งนี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ มองว่า ทิศทางของกระแสเงินทุนที่คาดว่าจะไหลเข้าสู่กลุ่มตลาดเกิดใหม่ รวมถึงไทย อาจไม่ยั่งยืน เนื่องจากนักลงทุนในตลาดโลกพร้อมปรับสถานะการลงทุนทุกเมื่อ ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยง เช่น ความไม่แน่นอนของการขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไปของเฟด โดยตลาดยังคงระมัดระวังต่อท่าทีของทางการไทยเกี่ยวกับมาตรการดูแลเงินทุนไหลเข้า นอกจากนี้ หากอัตราดอกเบี้ยในตลาดสหรัฐฯ พุ่งขึ้นอย่างมาก และภาวะตลาดการเงินตึงตัวจากการที่เฟด จะเริ่มลดขนาดงบดุลในอนาคต รวมทั้งอาจจะยังปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายควบคู่กันไป ปัจจัยดังกล่าวจะกระตุ้นกระแสเงินทุนไหลออกได้เช่นกัน