สถาบันป๋วยฯ เผยผลวิจัยสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีไม่จูงใจดึงนักลงทุนต่างชาติ เหตุอัตราภาษีของไทยอยู่ในระดับ 7.6% ต่ำที่สุดใน 5 ประเทศอาเซียน ขณะที่ต่างชาติให้น้ำหนักด้านกฎเกณฑ์ที่เอื้อต่อการทำธุรกิจมากกว่า แถมส่งผลให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ให้นักลงทุนปีละ 2.24 แสนล้านบาท พร้อมเสนอแนะรัฐบาลหันมาให้ความสำคัญกับเงื่อนไขกระตุ้นการลงทุนเป็นรายอุตสาหกรรม
ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงผลการจัดทำของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และการดึงดูนักลงทุนต่างชาติ พบว่า ประเทศไทยให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีรูปของ Tax holiday และการลดหย่อนภาษีอื่นๆ เมื่อเทียบกับ 5 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ไทยต่ำสุดที่ 7.6 % ในขณะที่อินโดนีเซีย 13.9 % มาเลเซีย 10.2 % ฟิลิปปินส์ 17.9% เวียดนาม 9.9% สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขยายสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเพื่อจูงใจนักลงทุนเพิ่มเติม
ขณะเดียวกัน สิทธิประโยชน์ทางภาษีในรูปของ Tax holiday และการลดหย่อนภาษีอื่นๆ เป็นต้นทุน และทำให้ไทยต้องสูญเสียรายได้เฉลี่ยต่อปีประมาณ 224,000 ล้านบาท หรือประมาณ 2% ของจีดีพีหรือใกล้เคียงกับรายได้ของรัฐบาลจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และมีแนวโน้มต้นทุนดังกล่าวจะสูงขึ้นทุกๆ ปี
ดังนั้น แรงจูงใจทางภาษีสำหรับนักลงทุนที่จะเข้ามาในประเทศไทย จึงมีบทบาท หรือความสำคัญน้อยมากในเชิงนโยบายเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในอาเชียน จากตัวเลขของนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากช่วงปี 2001-2005 มีแชร์ของนักลงทุนเข้าไทยประมาณ 50% ปีนี้เหลือไม่ถึง 20% ปัจจุบัน ประเทศมีแชร์สูงสุด คือ อินโดนีเชีย ประมาณ 45% จากเดิมอยู่ที่ 12% จากตัวเลขดังกล่าวรัฐบาลควรให้ความสำคัญปัจจัยอื่นๆ โดยเฉพาะเงื่อนไขหรือกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่จะอำนวยความสะดวกต่อการลงทุน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาในประเทศไทย