ตลท.ต่อยอด SET Social Impact ผนึก บจ. mai นำร่องพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม โดยเห็นว่าเป็นบทบาทสำคัญของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งมีความพร้อมด้านการพัฒนาธุรกิจแล้ว ควรส่งต่อความสำเร็จไปยังผู้ประกอบการรายใหม่โดยเฉพาะธุรกิจ เพื่อสังคมให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง เป็นการช่วยสร้างรากฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงให้กับประเทศ
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) และสมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดโครงการ SET Social Impact Gym by mai Executives ผนึกพลังบริษัทจดทะเบียนใน mai ร่วมพัฒนาศักยภาพธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise : SE) ให้แข็งแกร่ง มุ่งขยายการสร้างผลลัพธ์ที่ดีแก่สังคม และต่อยอดการสร้างความเชื่อมโยงภาคธุรกิจ และภาคสังคมผ่านดิจิตอลแพลตฟอร์ม SET Social Impact ซึ่งมีบริษัทจดทะเบียนกว่า 60 บริษัท และธุรกิจเพื่อสังคม 50 รายอยู่บนแพลตฟอร์มในปีที่ผ่านมา
นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลท. เปิดเผยว่า ตลท.ได้เริ่มโครงการ SET Social Impact ดิจิตอลแพลตฟอร์มบน www.setsocialimpact.com ในปี 59 เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงความร่วมมือของภาคธุรกิจ และภาคสังคมให้มาพบกันเพื่อแบ่งปันทรัพยากร แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อขยายการสร้างผลลัพธ์ที่ดีทางสังคม (social impact)
และในปีนี้ต่อยอดความสำเร็จจากแพลตฟอร์มสู่ความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ในการเพิ่มขีดความสามารถให้กับธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise : SE) สร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ผ่านโครงการ “SET Social Impact Gym by mai Executives” กิจกรรมที่ผสานความร่วมมือจากผู้บริหารของภาคธุรกิจในการทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ และเทคนิคการประกอบธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการทางสังคม โดยเริ่มแรกมีผู้บริหารจาก mai 12 ท่าน ที่อาสามาเป็นโค้ชร่วมพัฒนาศักยภาพให้กับธุรกิจเพื่อสังคม 13 รายที่เข้าร่วมโครงการ
“โครงการ “SET Social Impact Gym by mai Executives” เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้าง social impact ร่วมกันระหว่างตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทจดทะเบียน และจะทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยเชิญชวนให้บริษัทจดทะเบียนที่สนใจมีส่วนร่วม และบทบาทต่อการพัฒนาธุรกิจ เพื่อสังคมให้เติบโต และแข็งแรง ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการขยายผลลัพธ์ที่ดีต่อสังคมให้กว้างขวางมากขึ้น สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มุ่งพัฒนาตลาดทุนสร้างประโยชน์แก่ทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด You Grow, We Groom ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ เล็งเห็นว่า หากธุรกิจ และสังคมก้าวหน้าเติบโตไปด้วยกัน จะส่งผลให้ประเทศชาติเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ในที่สุด” นางเกศรา กล่าว
นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนใน mai เปิดเผยว่า mai ภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการอุทิศความรู้ ประสบการณ์ ร่วมสร้างธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อเป็นการเติมเต็มการทำงานซึ่งกันและกันระหว่างภาคธุรกิจกับภาคสังคมที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ทางสังคมอย่างยั่งยืน โดยเห็นว่าเป็นบทบาทสำคัญของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งมีความพร้อมด้านการพัฒนาธุรกิจแล้ว ควรส่งต่อความสำเร็จไปยังผู้ประกอบการรายใหม่โดยเฉพาะธุรกิจ เพื่อสังคมให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง เป็นการช่วยสร้างรากฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงให้กับประเทศ ในทางกลับกันถือเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทจดทะเบียนใน mai ได้เรียนรู้แนวคิด และได้รู้จักกับธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งถือเป็นกระบวนการเรียนรู้จากทั้ง 2 ฝั่ง และอาจนำไปสู่การร่วมทุน หรือการพัฒนางานอื่นๆ ร่วมกัน เพื่อสร้างธุรกิจเพื่อสังคมรุ่นใหม่ในอนาคต
นอกเหนือจากโครงการ “SET Social Impact Gym by mai Executives” แล้ว ในปี 60 ตลท.ยังมีการจัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ และกิจกรรมต่างๆ สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการ SE (Social Enterprise) บริษัทจดทะเบียน หรือผู้ที่สนใจการลงทุนทางสังคม (Social Impact Investment) เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนทางสังคม และเป็นการเปิดโอกาสให้มีการพบปะแลกเปลี่ยนทรัพยากร เพื่อเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจร่วมกัน อาทิ หลักสูตรอบรม SE 101 for beginning of social entrepreneur, SE 102 for scaling social enterprises, SE 201 for Listed Com. & Social Investor รวมทั้งกิจกรรม SET SE Matching Day, SET Social Impact Day และ SET Social Impact Fair
โครงการ SET Social Impact เป็นโครงการที่ ตลท.เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 59 เพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือของภาคธุรกิจ และภาคสังคม เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีทางสังคม โดยได้จัดทำ SET Social Impact Platform ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางระหว่างบริษัทจดทะเบียน และธุรกิจเพื่อสังคม ในการแบ่งปันทรัพยากร แลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารด้านการลงทุนทางสังคม ปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนอยู่บน SET Social Impact Platform กว่า 60 บริษัท และธุรกิจเพื่อสังคม 50 ราย
สำหรับ SE เข้าร่วมโครงการฯ 13 บริษัท ดังนี้
1.Happy Farmer (แพลตฟอร์มซื้อ-ขาย สินค้าเกษตรอินทรีย์-แปรรูป และอนุรักษ์พันธุ์ข้าว)
2.Green Style (สินค้า และบริการเพื่อการจัดซื้อสีเขียว)
3.Plant D (แพลตฟอร์มซื้อ-ขาย ผักอินทรีย์ และส่งเสริมผู้สูงอายุให้มีรายได้จากการปลูกผัก
)
4.Folk Rice (แพลตฟอร์มซื้อ-ขาย สินค้าเกษตรอินทรีย์ และอนุรักษ์พันธุ์ข้าว)
5.Heartist (กระเป๋าจากผ้าทอของเด็กพิเศษ)
6.DM-Academy (ช่วยดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานครบวงจรโดยทีมสหวิชาชีพ)
7.Hivesters (ท่องเที่ยวชุมชน เพื่อรายได้ของชุมชน)
8.Nok Hook (จำหน่ายกาแฟ ที่ปลูกในป่าเพื่อสร้างรายได้ให้ชาวเขามูเซอ ลดการตัดไม้ทำลายป่า)
9.Relation flip (บริการทางจิตวิทยา คลายความเครียดให้พนักงานบริษัท)
10.Peony (เครื่องช่วยกายภาพผู้ป่วย โรคหลอดเลือดในสมอง)
11.Guide light (แพลตฟอร์มเพื่อหาอาสาสมัครช่วยอ่านหนังสือเสียงให้นักศึกษาตาบอด)
12.Career visa (ฝึกอาชีพ-เตรียมพร้อมในการทำงาน ช่วยนักศึกษาจบใหม่มีงานทำได้มากขึ้น)
13.Foot Salon (ทำรองเท้าเพื่อผู้ป่วยเบาหวาน)