ผู้จัดการรายวัน 360 - BECL จับ BMN แต่งตัวเตรียมพร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้าน “ณัฐวุฒิ” ตั้งเป้ารายได้ปี 60 โตไม่น้อยกว่า 10-20% จากปี 59 เตรียมเปิดพื้นที่ชอปปิ้งมอลล์เพิ่มอีก 2 สถานี พร้อมเข้าประมูลพัฒนาพื้นที่สถานีของสายสีม่วงอีก 16 สถานี
นายณัฐวุฒิ ตรีวิศวะเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบงคอกเมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด หรือ BMN บริษัทในเครือ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL ระบุบริษัทยังคงเดินหน้าเตรียมความพร้อมจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET ภายในปี 2-3 ปี ซึ่งเป็นระยะเดียวกับที่การก่อสร้างส่วนต่อขยายของสถานีรถไฟฟ้าเส้นทางต่างๆ เชื่อมโยงกันทั้งหมด
วัตถุประสงค์หลักของการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนฯ คือ การระดมทุนใช้ในการพัฒนาศูนย์การค้าที่เชื่อมโยงรถไฟใต้ดินในเส้นทางต่างๆ ได้แก่ สถานีรัชดาภิเษก สถานีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สถานีรถไฟฟ้าเพชรบุรี ซึ่งจะเตรียมเปิดให้บริการภายในปลายปีนี้ ซึ่งพบว่ามีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมากเป็นอันดับสาม รองจากสถานีรถไฟฟ้าสุขุมวิท และสถานีรถไฟฟ้าพระรามเก้า โดยจะเน้นไลฟ์สไตล์ชีวิตคนเมือง
ขณะเดียวกัน ในเส้นทางส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสถานีต่างๆ ทั้งใต้ดิน และบนดินเช่นสายสีม่วง และสายสีน้ำเงินนั้น นายณัฐวุฒิ ระบุว่า บริษัทวางแผนที่จะสร้างศูนย์การค้าแบบเดียวกับบีทีเอส ที่เปิดให้บริการในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นสถานีสามยอด หรือสถานีสนามชัย, สถานีอิสระภาพ, สถานีวัดมังกรกมลาวาส ขณะเดียวกัน แผนพัฒนาพื้นที่ในสถานีรถไฟฟ้า BTS ก็ยังคงแนวทางเดิมเนื่องจากลงตัวแล้ว
“สถานีต่างๆ ที่จะเริ่มให้บริการเปิดเป็นเมโทรมอลล์นั้น ขณะนี้อยู่ในช่วงของการศึกษาความเป็นไปได้ของรูปแบบธุรกิจ และจำนวนผู้ใช้บริการในแต่ละสถานี ปัจจุบันอยู่ในช่วงของการพิจารณาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่จะมาปรับใช้กับแต่ละสถานีให้มีความเหมาะสมต่อไป โดยราคาค่าเช่าพื้นที่นั้น กำหนดไว้ที่ประมาณ 1,000 บาทต่อตารางเมตร ขณะเดียวกัน เรากำลังซึ่งเจรจากับร้านสะดวกซื้อแบรนด์ “ลอว์สัน” เข้ามาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจเข้าร่วมเปิดบริการในทุกๆ สถานี” นายณัฐวุฒิ กล่าว
กรรมการผู้จัดการ BMN ระบุเป้าหมายการเติบโตของรายได้ในปีนี้ บริษัทตั้งเป้าไว้ว่า จะเติบโตไม่น้อยกว่า 10-20% เทียบสัดส่วนรายได้จากปี 2559 ที่มีรายได้ 500 ล้านบาท โดยรายได้หลักมาจากการเปิดพื้นที่รีเทลในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินเพิ่มอีก 2 สถานี คือ สถานีศูนย์วัฒนธรรม และสถานีเพชรบุรี สำหรับสถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สถานีรัชดาภิเษก และสถานีลาดพร้าว อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบที่เหมาะสม เพื่อให้สอดรับกับธุรกิจในทำเลนั้นๆ รวมถึงปริมาณผู้โดยสารด้วย
“ปี 2559 เราเปิดพื้นที่รีเทลในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินแล้ว 6 สถานี ล่าสุด เพิ่งเปิดสถานีคลองเตย ในปี 2560 จะเปิดที่สถานีศูนย์วัฒนธรรม ขนาดพื้นที่ประมาณ 600-700 ตารางเมตร ขณะที่สถานีเพชรบุรี มีพื้นที่ประมาณ 1,000 ตารางเมตร จะเน้นที่รูปแบบไลฟ์สไตล์เพื่อตอบโจทย์ความสะดวก สำหรับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินที่ส่วนใหญ่จะมีไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบ ในส่วนของธุรกิจสื่อโฆษณา และพื้นที่รีเทลเริ่มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ หลังคนหันมาให้ความสนใจใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้น ตอนนี้ผู้ใช้บริการอยู่ที่ประมาณ 3 แสนเที่ยวคนต่อวัน บางวันพีกสุดแตะ 3.5 แสนเที่ยวคนต่อวัน”
ขณะเดียวกัน จะเข้าประมูลพัฒนาพื้นที่สถานีของสายสีม่วง (คลองบางไผ่-เตาปูน) ระยะทาง 23 กิโลเมตร จำนวน 16 สถานี ได้แก่ สถานีเตาปูน, บางซ่อน, วงศ์สว่าง, แยกติวานนท์, กระทรวงสาธารณสุข, ศูนย์ราชการนนทบุรี, ศรีพรสวรรค์, แยกนนทบุรี 1, สะพานพระนั่งเกล้า, ไทรม้า, ท่าอิฐ, บางรักใหญ่, บางพลู, สามแยกบางใหญ่, ตลาดบางใหญ่ และคลองบางไผ่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ออกประกาศร่างทีโออาร์โครงการ ซึ่งบริษัทได้ศึกษาพื้นที่ไว้หมดแล้วว่า ทั้ง 16 สถานีจะพัฒนารูปแบบไหน และจะต้องแบ่งการพัฒนาเป็นช่วงเวลาตามความเหมาะสม