หุ้นไทยไตรมาส 2 ธุรกิจส่งออกโดดเด่น หลายปัจจัยในประเทศหนุน โดยเฉพาะเงินบาทอ่อนค่าลง โดยเฉพาะด้านการเมืองที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน และการลงทุนโครงการขนาดใหญ่จากรัฐบาล ช่วยกลบปัจจัยลบจากภายนอก ผลักดันดัชนีไปต่อ แม้จะยังเคลื่อนไหวในกรอบ
ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 1/60 ในตลาดหุ้นไทย เริ่มประกาศออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่หลายอุตสาหกรรมเป็นไปตามคาดการณ์ แต่สำหรับนักลงทุน สิ่งที่ต้องการเพิ่มเติมคือ ทิศทางของตลาดหุ้นไทย และแนวโน้มในแต่ละอุตสาหกรรมในไตรมาส 2 จะเป็นไปในรูปแบบใด รวมถึงต้องการรู้ว่าปัจจัยบวก และปัจจัยลบประเภทใดที่จะเป็นตัวแปรสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของดัชนี
ภาพรวมตั้งแต่ต้นปีพบว่า แรงขายสะสมในปัจจุบันของตลาดหุ้นไทยมาจากนักลงทุนทั่วไปเพียงกลุ่มเดียวถึง 3.74 หมื่นล้านบาท ขณะที่ผู้ซื้อสะสมมากที่สุดได้แก่ สถาบันในประเทศ 2.95 หมื่นล้านบาท ขณะที่นักลงทุนต่างชาติ และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซื้อสะสมเพียง 4.4 พันล้านบาท และ 3.45 พันล้านบาท ตามลำดับ
แต่หากพิจารณาจากช่วงเดือนมีนาคม พบว่า ตั้งแต่ต้นปีดัชนีหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นแค่ 1.17% สวนทางต่อตลาดประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 2.5%-8.9% โดยเหตุผลสำคัญมาจากตลาดหุ้นไทยปีที่ผ่านมาปรับขึ้นแรงกว่าเพื่อนบ้านร่วม 19.8% ทำให้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยไปแล้ว 1.34 หมื่นล้านบาท จากแรงซื้อสุทธิเมื่อสิ้นปี 2559 ที่ระดับ 7.84 หมื่นล้านบาท
ขณะที่แนวโน้มในไตรมาส 2/60 หลายฝ่ายเชื่อว่าจะเป็นช่วงขาขึ้นของตลาดโดยได้รับปัจจัยหนุนมาจากการทยอยประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่จะออกมาอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มแบงก์ และกลุ่มพลังงาน รวมทั้งยังเป็นช่วงที่ บจ.จะมีการประกาศจ่ายปันผลงวดปี 2559 จึงถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยกำลังจะมีการฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ
ส่วนทิศทางการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ (Fund Flow) จะยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องต่อความคาดหวังต่อตลาดหุ้นไทยในช่วงต้นปี ที่หลายฝ่ายเชื่อว่าจะเป็นปีที่ดีอีกปีหนึ่ง ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ จากการฟื้นตัวของการส่งออก และการบริโภค รวมทั้งปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนภาครัฐ เหตุเพราะการเมืองที่เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่
สิ่งที่เห็นได้ชัด ณ ขณะนี้คือ ยังไม่พบปัจจัยลบใดที่ชัดเจน และมีน้ำหนักต่อการกดดันการเคลื่อนไหวของดัชนีได้มากพอ จึงทำให้แวดวงตลาดทุนเริ่มคาดการณ์ว่า SET Index ในไตรมาส 2 นี้น่าจะแกว่งตัวในกรอบ แม้มีโอกาสที่จะพักฐาน แต่ถือเป็นปัจจัยหนุน แนะนำนักลงทุนว่ายังคงเป็นจังหวะที่ทยอยเข้าลงทุนเพิ่มได้ แม้มีความผันผวนในระยะสั้นจากปัจจัยต่างประเทศ เช่น ความไม่แน่นอนของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ความไม่แน่นอนทางการเมืองของประเทศฝรั่งเศส รวมไปถึงความไม่สงบเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ
“อิสระ อรดีดลเชษฐ์” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน สายงานวิจัย บล. ไทยพาณิชย์ จำกัด ให้มุมมองว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในปี 2560 ยังคงมีแนวโน้มที่ค่อนข้างดี โดยยังคงเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยไว้ที่ระดับ 1,700 จุด และประเมิน P/E ตลาดในระยะ 12 เดือนข้างหน้าไว้ที่ระดับ 15 เท่า ซึ่งมีปัจจัยบวกจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ชัดเจน รวมทั้งมองว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนจะยังสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ปัจจัยบวกหนุนลงทุน
ขณะเดียวกัน ภาวะการลงทุนในปีนี้จะไม่มีแรงกดดันจากเรื่องของราคาน้ำมัน กล่าวคือ ราคาน้ำมันจะไม่ปรับตัวลดลงเหมือนดังเช่นปีที่ผ่านมา และคาดการณ์ราคาน้ำมันในปีนี้จะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 55-60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ต่างประเทศคาดการณ์ราคาน้ำมันไว้ที่ระดับ 65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การสู้รบในต่างประเทศนั้น มองว่าปัญหาดังกล่าวจะไม่พัฒนาไปสู่ภาวะสงคราม เพราะจากการติดตามข้อมูลจากต่างประเทศพบว่า ประเทศคู่ขัดแย้งยังคงต้องการใช้วิธีการเจรจาเพื่อลดความขัดแย้ง
“ปัจจัยในประเทศจะเป็นเรื่องของการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลที่จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งคาดว่าจะเริ่มเห็นการเปิดประมูลคลื่นความถี่ล่วงหน้าก่อนจะครบกำหนดสัญญาสัมปทาน ในคลื่นความถี่ 2600, 850 และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ภายในช่วงปลายปี 2560 หรือต้นปี 2561 ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลังจะเริ่มมีความชัดเจนเกี่ยวกับการกำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้ตลาดจะสามารถปรับตัวรองรับต่อความเสี่ยงได้มากพอควร หลังไตรมาส 1 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.2% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่า (Underperform) จากตลาดอื่นๆ”
ทำให้เชื่อว่า ในไตรมาส2/60 กลุ่มหุ้นที่น่าสนใจ คือ ธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์จากภาคการส่งออกที่ฟื้นตัว และแนวโน้มค่าเงินบาทอ่อนค่า ได้แก่ ERW จากคาดการณ์กำไรปีนี้เติบโต 19%, GFPT รับประโยชน์จากราคาไก่ที่สูงขึ้น และต้นทุนอาหารสัตว์ลดลง, HANA คาดกำไรจะกลับมาเติบโต 35%, KCE คาดกำไรจะกลับมาเติบโตตั้งแต่ไตรมาส 2เป็นต้นไป, MINT มีความน่าสนใจในเรื่องมูลค่า หลังราคาหุ้นยังปรับตัวขึ้นช้ากว่าตลาด 11% ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และ TU รับผลบวกจากค่าเงินบาทอ่อนค่า
“รณกฤต สารินวงศ์” กรรมการผู้จัดการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เออีซี จำกัด (มหาชน) หรือ AECS ประเมินกรอบดัชนีตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 2 ยังมีความผันผวนต่อเนื่อง และจะเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 โดยทั้งปีประเมินกรอบดัชนีตลาดหุ้นไทยไว้ที่ 1,410-1,641 จุด โดยอิงจากค่า P/E จาก Band ในอดีตพบว่า จุดต่ำสุดในรอบ 5 ปี อยู่ที่ 13.8 เท่า และจุดเฉลี่ยเหมาะสมอยู่ที่ 15.7 เท่า เนื่องจากประมาณการกำไรลดลงราว 4% ส่งผลให้กำไรต่อหุ้นของตลาดมีการเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่ 8.1%
“ตลาดหุ้นไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตลอดทั้งปี และล่าสุด ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศปรับขึ้น Fed Fund Rate ครั้งแรกในปี 2560 และเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 10 ปี จนมาอยู่ที่ระดับ 1% ส่งผลให้เกิดความผันผวนของตลาดการลงทุนในเกือบทุกสินทรัพย์มีมากขึ้น และคาดเดาทิศทางได้ยากโดยเฉพาะค่าเงิน Dollar Index ที่เคยหนุนดัชนีดาวโจนส์ กลับกลายเป็นไม่สัมพันธ์กัน รวมไปถึงผลตอบแทนพันธบัตรที่สูงขึ้นจากการถูกลดการลงทุน กลับมาผลักดันดาวโจนส์ ขณะที่ก่อนหน้านี้ผลตอบแทนพันธบัตรลดลงกดดันดัชนีดาวโจนส์ ทองคำบ่อยครั้งที่สวนทางดาวโจนส์ แต่ในรอบต้นปีนี้กลับวิ่งไปพร้อมๆ กัน”
สำหรับตัวเลข GDP ของไทยในปีนี้คาดว่า จะยังคงมีแนวโน้มเติบโตระดับ 3.5% เมื่อเทียบจากปีก่อน แต่เมื่อนำมาหักลบกับอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 1.8% พบว่า Real GDP Growth จะอยู่ที่ระดับ 1.7% จากปีก่อน ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี และการลดลงนี้ทำให้กังวลว่าจะมีผลต่อ Asset Allocation ของนักลงทุนต่างชาติ และการเกิดฟองสบู่ในตลาดหุ้น
ดังนั้น บริษัทฯแนะกลยุทธ์การลงทุนโดยเน้น Stock Selection มากกว่าการเลือกหุ้นอิงดัชนี โดยแนะนำหุ้นที่น่าสนใจ และมีจุดเด่นเฉพาะตัว ได้แก่ ARROW ให้ราคาเป้าหมายที่ 19.60 บาท คาดได้ประโยชน์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ โดยในปี 2560-2561 คาดว่าบริษัทจะมีกำไรสุทธิโตเฉลี่ยปีละ 15% สร้างสถิติกำไรรายปีสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง และราคาหุ้นปัจจุบันยังมี Upside 13.3%
ถัดมาคือ BA ให้ราคาเป้าหมายที่ 27.75 บาท เพราะในปีนี้มีกลยุทธ์เชิงรุกมากขึ้นทั้งในการเพิ่มเส้นทางการบินใหม่ การเพิ่มความถี่ในเส้นทางการบินเดิม การเพิ่มพันธมิตรในสายการบินใหม่ (Code Share Agreement) การเพิ่มฝูงบิน และการปรับปรุงพื้นที่ในสนามบินสมุย โดยคาดปี 2560 มีกำไรสุทธิ 2,284 ล้านบาท เติบโต 29.2%
นอกจากนี้ หุ้น EPG ราคาเป้าหมายที่ 15.30 บาท คาดปี 59/60-60/61 กำไรปกติโตเฉลี่ยปีละ 18.6% จากยอดขายอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ที่โตดเด่น ตามการฟื้นตัวของยอดขายยานยนต์ในต่างประเทศ จากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่สหรัฐฯ ที่จะเพิ่มขึ้น และโรงงาน EPP Phase 2 ที่ระยอง สามารถเดินเครื่องได้เต็มประสิทธิภาพ หนุนยอดขาย และมาร์จิ้นปรับตัวดีขึ้น
ตามมาด้วย หุ้น JWD ราคาเป้าหมายที่ 10.40 บาท คาดได้อานิสงส์บวกจากเปิด AEC หลังเพิ่มการลงทุนในคลังสินค้าที่ประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนผลดำเนินงานคาดพ้นจุดต่ำสุดปีก่อนหน้านี้แล้ว หลังกำไรปกติเริ่มฟื้นตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2 ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3/59 อีกทั้งปี 2560 คาดกำไรปกติพลิกโตเด่นถึง 76.7% สุดท้ายหุ้น ROBINS ราคาเป้าหมายที่ 74 บาท คาดได้ประโยชน์จากกำลังซื้อที่ดีขึ้น และไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของคนต่างจังหวัด โดยปี 2560 คาดกำไรปกติโต 12.8%
จากข้อมูลที่นำเสนอมาสามารถสรุปได้ว่า ดัชนีหุ้นไทยในไตรมาส 2 ยังสามารถไปได้ต่อ แม้จะเป็นการเคลื่อนไปข้างหน้าในกรอบที่จำกัด แต่ปัจจัยภายในประเทศจะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญ และช่วยลดทอนความผันผวนจากปัจจัยภายนอกประเทศได้ดี หลังผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาสแรกออกมาเป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ อีกทั้งสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศเริ่มเบนเข็มเข้าสู่ทิศทางการเลือกตั้ง หรือมีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวมากขึ้น ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่จะมีความโดดเด่น ถูกยกให้แก่ธุรกิจส่งออก และธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการอ่อนค่าของค่าเงินบาท รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่อการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ