“คลัง” แจงผลจัดเก็บรายได้รวมสุทธิในครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2560 มีทั้งสิ้นกว่า 1.04 ล้านล้านบาท หรือสูงกว่าประมาณการ 0.9% ขณะที่ “กรมสรรพากร” ทำผลงานไปได้ 7.44 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้า 1.32 หมื่นล้านบาท ด้านผลเบิกจ่ายขยายตัว 2.2 และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน มี.ค.60 มีอยู่ที่กว่า 1.41 แสนล้านบาท
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม 2559-มีนาคม 2560) ว่า รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,041,990 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 9,305 ล้านบาท หรือ 0.9% โดยมีสาเหตุจากการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น และการนำส่งรายได้ของกรมสรรพสามิต สูงกว่าประมาณการ 25,268 และ 4,026 ล้านบาท หรือ 37.8 และ 1.5% ตามลำดับ สำหรับภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย ได้แก่ ภาษีน้ำมันฯ ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเบียร์
ขณะที่ภาพรวมการจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาลเฉพาะในเดือนมีนาคม 2560 นั้น ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวว่า จะมีทั้งสิ้น 163,411 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 7,189 ล้านบาท หรือ 4.2% แต่ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีงบประมาณที่แล้ว 11.8% ทั้งนี้ เป็นผลจากรัฐวิสาหกิจบางแห่งมีการเหลื่อมการนำส่งรายได้ในเดือนเมษายน 2560 จากที่ประมาณการไว้ว่าจะนำส่งในเดือนมีนาคม 2560
อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 60 ยังเป็นไปตามกรอบที่กระทรวงการคลังวางไว้ นอกจากนี้ การขยายตัวของมูลค่านำเข้า โดยเฉพาะการนำเข้าวัตถุดิบ และสินค้าขั้นกลาง เป็นสัญญาณที่ดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลดีสำหรับการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ 2560 ให้เป็นตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่เนื่องจากในช่วงเดียวกันปีที่แล้วมีรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคม (3G และ 4G) ทำให้ผลการจัดเก็บรายได้ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว
ส่วนรายละเอียดผลการจัดเก็บรายได้ช่วงครึ่งปีแรกแยกตามหน่วยงานจัดเก็บนั้น กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บรายได้รวม 744,712 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 13,251 ล้านบาท หรือ 1.7% แต่ยังสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว จำนวน 21,125 ล้านบาท หรือ 2.9%
กรมสรรพสามิตในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2560 สามารถจัดเก็บรายได้รวม 279,263 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 4,026 ล้านบาท หรือ 1.5% แต่ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 7.5%
กรมศุลกากรมีรายได้จัดเก็บรวม 52,565 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 8,335 ล้านบาท หรือ 13.7 และยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 9.5% โดยเป็นผลจากการจัดเก็บอากรขาเข้าต่ำกว่าเป้าหมายจำนวน 9,204 ล้านบาท หรือ 15.4% เนื่องจากการใช้สิทธิพิเศษภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ยังคงมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษีศุลกากร ระยะที่ 2 ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ และเงินบาทในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 ขยายตัว 8.7% และ 7.0% ตามลำดับ
ส่วนผลการจัดเก็บรายได้ของกรมธนารักษ์นั้น ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวว่า สามารถจัดเก็บรายได้รวม 4,731 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 450 ล้านบาท หรือ 10.5% สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 19.5% โดยรายได้จากที่ราชพัสดุ และจากการจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ
ขณะที่รายได้รวมจากการนำส่งของรัฐวิสาหกิจในรอบครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2560 นั้น สามารถนำส่งรายได้รวม 69,788 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2,095 ล้านบาท หรือ 3.1% และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 9.2% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำส่งรายได้ที่ค้างนำส่งจากปีก่อนหน้า
ส่วนรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 5 อันดับแรก ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง, สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล, โรงงานยาสูบ, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ขณะที่การจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นสามารถจัดเก็บรายได้รวม 92,191 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 25,268 ล้านบาท หรือ 37.8% แต่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 40.8%
นอกจากนี้ นายกฤษฎายังได้แถลงถึงฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2560 ว่า รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้นจำนวน 1,029,237 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 30,852 ล้านบาท คิดเป็น 2.9% โดยมีสาเหตุหลักมาจากการนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz (4G) ในปีก่อน
ขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณจะมีทั้งสิ้น 1,605,672 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 34,796 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.2% โดยการเบิกจ่ายดังกล่าวนั้น จะประกอบไปด้วยรายจ่ายปีปัจจุบัน 1,452,770 ล้านบาท คิดเป็น 53.2% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 60 หรือสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 2.9% และรายจ่ายจากงบประมาณปีก่อน 152,902 ล้านบาท หรือต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 3.9%
ทั้งนี้ รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 295,592 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 141,611 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เดือนมีนาคม 2560 รัฐบาลยังคงขาดดุลเงินสดอีกเป็นจำนวน 28,122 ล้านบาท โดยเป็นการขาดดุลเงินงบประมาณ 47,043 ล้านบาท ขณะที่ดุลเงินนอกงบประมาณยังคงเกินดุลที่ 18,921 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2560 มีจำนวน 141,611 ล้านบาท
ส่วนการเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่สำคัญในเดือนนี้ ได้แก่ เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 14,864 ล้านบาท รายจ่ายชำระหนี้ของกระทรวงการคลัง จำนวน 8,191 ล้านบาท และรายจ่ายอื่นของกระทรวงกลาโหม จำนวน 6,898 ล้านบาท