กลุ่ม “เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น” เปิดข้อมูลหลังปิดหีบอ้อย ผลงานดีเกินคาด มีอ้อยเข้าหีบถึง 8.7 ล้านตัน สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ และสูงกว่าปีก่อนถึง 1.2 ล้านตัน ขณะที่อ้อยทั่วประเทศมีน้อยกว่าปีก่อน เหตุคุณภาพอ้อยดีขึ้น ทำให้ผลิตน้ำตาลทรายได้มากกว่าปีก่อน 2.2 ล้านกระสอบ หรือเพิ่มขึ้นถึง 30% ส่วนโรงไฟฟ้าชีวมวลก็เปิดขายไฟได้ครบทั้ง 3 โรงแล้ว มั่นใจผลการดำเนินงานปี 60 พุ่ง ผลดีจากปริมาณ และราคาน้ำตาลสูงขึ้นมาก
นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาล และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า หลังจากปิดการหีบอ้อยของปีการผลิต 2559/60 แล้ว พบว่าโรงงานน้ำตาลในกลุ่ม KTIS ทั้ง 3 โรง สามารถผลิตหีบอ้อยได้รวมประมาณ 8.7 ล้านตัน สามารถผลิตเป็นน้ำตาลทรายได้ประมาณ 9.4 ล้านกระสอบ เมื่อเปรียบเทียบกับฤดูการผลิตปี 2558/59 แล้วปรากฏว่า ได้ปริมาณอ้อยมากกว่าปีก่อน 1.2 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 16% และสามารถผลิตน้ำตาลทรายได้มากกว่าปีก่อน 2.2 ล้านกระสอบ หรือเพิ่มขึ้นถึง 30%
ทั้งนี้ ปริมาณอ้อยของกลุ่ม KTIS ที่เติบโตขึ้นอย่างมากนี้ สวนทางกับภาพรวมของอุตสาหกรรมที่มีปริมาณอ้อยลดลง โดยปีการผลิต 2559/60 มีอ้อยทั้งประเทศ 92.8 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อน ซึ่งมีปริมาณอ้อยรวม 94.0 ล้านตัน
“ผลผลิตอ้อย และน้ำตาลทรายของเราในฤดูหีบนี้น่าพอใจมาก จากปีก่อนซึ่งประสบปัญหาภัยแล้ง เราได้อ้อยประมาณ 7.5 ล้านตัน โดยตั้งเป้าไว้ว่า ปีนี้จะทำให้ได้ 8.2-8.5 ล้านตัน ซึ่งก็สามารถทำได้ทะลุเป้า และที่น่าดีใจไปกว่านั้นก็คือ ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยที่สูงถึงประมาณ 108 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ทำให้ได้ผลผลิตน้ำตาลถึง 9.4 ล้านกระสอบ อันแสดงถึงคุณภาพอ้อยของเราที่ดีขึ้นมาก”
โดยจากปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้ในปี 2560 จะทำให้ผลประกอบการของสายธุรกิจน้ำตาลทรายดีขึ้นอย่างมาก ทั้งจากปริมาณที่เพิ่มขึ้น และราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่สูงขึ้นมากด้วย นอกจากนี้ จะส่งผลดีไปถึงสายธุรกิจอื่นๆ ทั้งโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล โรงงานผลิตเยื่อกระดาษชานอ้อย บรรจุภัณฑ์จากเยื่อชานอ้อย 100% และโรงงานผลิตเอทานอล ก็จะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้มั่นใจว่าผลการดำเนินงานของกลุ่ม KTIS ในปี 2560 จะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
นายณัฎฐปัญญ์ กล่าวถึงสายธุรกิจโรงไฟฟ้าของกลุ่ม KTIS ว่า ขณะนี้โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลทั้ง 3 โรง มีการรับรู้รายได้ครบถ้วนแล้ว ทั้งโรงไฟฟ้าเกษตรไทยไบโอเพาเวอร์ (KTBP) ไทยเอกลักษณ์เพาเวอร์ (TEP) ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ และรวมผลไบโอเพาเวอร์ (RPBP) ที่ จ.นครสวรรค์ โดยไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าทั้ง 3 โรงนี้ ส่วนหนึ่งจะนำไปใช้ในกระบวนการผลิต และอีกส่วนหนึ่งขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
“ต้องขอบคุณพนักงานทุกฝ่ายทุกส่วนของกลุ่ม KTIS ที่ทุ่มเท ร่วมแรงร่วมใจกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะฝ่ายไร่ที่เกาะติดอยู่ในพื้นที่เพาะปลูกอ้อย และลงไปแก้ไขปัญหาต่างๆ ตั้งแต่เริ่มแรก เช่น ปัญหาเรื่องน้ำ เรื่องพันธุ์อ้อย มาจนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยวที่พยายามจะให้ได้อ้อยที่สะอาด และมีคุณภาพดีที่สุด ในขณะที่ฝ่ายโรงจักรก็ดูแลเครื่องจักรต่างๆ เป็นอย่างดี ทำให้เครื่องจักรทำงานได้เต็มศักยภาพ ผลงานที่ทำได้เกินเป้านี้ต้องนับเป็นความสำเร็จของทุกคน” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว