บอร์ด บมจ.บีซีพีจี อนุมัติให้ซื้อหุ้น "สตาร์ เอ็นเนอร์ยี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์" ผู้ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพในอินโดนีเซีย ในสัดส่วน 33.33% มูลค่ากว่า 1.23 หมื่นล้านบาท เพื่อเพิ่ม และกระจายความเสี่ยงของรายได้ธุรกิจพลังงาน
นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 5/2560 เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 60 ได้อนุมัติให้เข้าซื้อหุ้น 33.33% ในบริษัท สตาร์ เอ็นเนอร์ยี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (SEGHPL) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพในอินโดนีเซีย โดยมีมูลค่าการลงทุนไม่เกิน 357.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.23 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/60
ทั้งนี้ บริษัทได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นกับผู้ขาย คือ บริษัท สตาร์ เอ็นเนอร์ยี่ อินเวสท์เมนท์ จำกัด ซึ่งถือหุ้นใน SEGHPL จำนวน 59.54% ซึ่งภายหลังการจำหน่ายหุ้นให้กับบริษัทแล้ว จะยังคงเหลือการถือหุ้นในสัดส่วน 26.21% ขณะที่บริษัท เอสอี โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมของผู้ขาย จะยังคงสถานะเป็นผู้ถือหุ้นใน SEGHPL ในสัดส่วน 40.46%
สำหรับ SEGHPL เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งประกอบกิจการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) โดยการเข้าซื้อหุ้นใน SEGHPL ครั้งนี้ เพื่อการเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพในอินโดนีเซีย ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ วายาง วินดู (Wayang Windu) โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ Salak และโรงไฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ Darajat
นอกจากนี้ SEGHPL ยังมีธุรกิจสำรวจ และขุดเจาะน้ำมัน และแก๊ส โดยถือหุ้นทั้งหมดในบริษัท สตาร์ เอ็นเนอร์ยี่ ออยล์ แอนด์ ก๊าซ จำกัด (SEOG) ซึ่งจะถูกปรับโครงสร้าง โดย SEGHPL จะขายให้แก่บริษัทในเครือนอกกลุ่ม SEGHPL ของผู้ขาย โดยผู้ขายจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างทั้งหมด ดังนั้น สินทรัพย์ที่บริษัทจะเข้าลงทุนจึงมีเพียงกลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพเท่านั้น
ปัจจุบัน SEGHPL ลงทุน 60% ในบริษัทย่อย บริษัท สตาร์ เอ็นเนอร์ยี่ จีโอเทอร์มัล จำกัด (SEG) โดย SEG เป็นผู้ถือหุ้นในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพ วางยาง วินดู ถือเป็นแหล่งพลังงานใต้พิภพที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ในอินโดนีเซีย ปัจจุบันมีกำลังการผลิตติดตั้ง 227 เมกะวัตต์ และตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสามารถขยายกำลังการผลิตติดตั้งได้สูงสุด 400 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้ได้มีการสำรวจแหล่งไอน้ำ และประเมินความเป็นไปได้ในการพัฒนาเพิ่มกำลังการผลิตในหน่วยการผลิต 3 และ 4 กำลังการผลิตหน่วยละ 60 เมกะวัตต์ รวม 120 เมกะวัตต์ โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาขุดหลุมสำรวจ เพื่อยืนยันความเป็นไปได้ของหน่วยการผลิตที่ 4 และจะมีการขออนุมัติราคาจำหน่ายไฟฟ้า รวมถึงการจัดหาแหล่งเงินกู้เพื่อใช้ในการลงทุนต่อไป
นอกจากนี้ SEGPHL ยังถือหุ้นในอีก 2 บริษัท คือ บริษัท พีที สตาร์ เอ็นเนอร์ยี่ ฮาลมาฮีรา จำกัด และบริษัท พีที สตาร์ เอ็นเนอร์ยี่ อินโดนีเซีย จำกัด ซึ่งทั้ง 2 บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้เพื่อเริ่มดำเนินโครงการ
ขณะเดียวกัน SEGHPL ลงทุน 69.75% ใน บริษัท สตาร์ ฟิโอนิก จีโอเทอร์มัล บี.วี.(SPG) เพื่อลงทุนโดยอ้อมในบริษัทโรงไฟฟ้า 4 บริษัท ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้า Salak และ Darajat โดยโรงไฟฟ้า Salak ถือเป็นแหล่งพลังงานใต้พิภพที่มีขนาดใหญ่สุดอันดับ 1 ในอินโดนีเซีย กำลังการผลิต 337 เมกะวัตต์ ส่วน Darajat ถือเป็นแหล่งพลังงานใต้พิภพที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ในอินโดนีเซีย มีกำลังการผลิต 271 เมกะวัตต์
สำหรับวัตถุประสงค์ของการลงทุนในครั้งนี้ BCPG ระบุว่า จะเป็นการเพิ่มรายได้ และการกระจายความเสี่ยงของรายได้จากการดำเนินธุรกิจ โดยโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้สม่ำเสมอ 24 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้สามารถสร้างรายได้อย่างมั่นคง นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งมีผลการดำเนินงานในอดีตที่ดี ตลอดจนยังเป็นการสร้างโอกาสในการขยายการลงทุนให้แก่บริษัทในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เนื่องจากประเทศอินโดนีเซีย ยังมีความต้องการใช้ไฟฟ้าอีกมาก และยังสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจไปยังโครงการอื่นๆ ในภายภาคหน้าจากการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกับกลุ่มสตาร์ เอ็นเนอร์ยี่
ส่วนแหล่งเงินลงทุนที่จะใช้ในการลงทุนครั้งนี้จะมาจากเงินกู้สถาบันการเงิน และกระแสเงินสดภายในบริษัท โดยอยู่ระหว่างการคัดเลือก และเจรจากับสถาบันการเงิน เพื่อขอรับการสนับสนุนทางการเงิน
ด้าน บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) ระบุว่า การเข้าทำรายการดังกล่าวของ BCPG เข้าข่ายเป็นการทำรายการของบริษัทด้วย ซึ่งจะมีการนำเสนอให้แก่ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทให้พิจารณาในวันที่ 27 เม.ย.นี้