xs
xsm
sm
md
lg

คราวน์ เทค แอดวานซ์เผยลูกหนี้ค้างชำระแค่ 5.5%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คราวน์ เทค แอดวานซ์ แจงกรณีงบปี 59 มีลูกหนี้ผ่อนชำระเพิ่มขึ้นจากปี 58 ชี้เกิดจากการดำเนินธุรกิจตู้เติมเงินออนไลน์ของบ.ย่อย “เวนดิ้ง คอร์ปอเรชั่น” ที่มีการผ่อนชำระตู้เติมเงิน “ดร.อมร มีมะโน” ย้ำมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการให้เครดิตเทอมลูกค้า และแนวทางป้องกันความเสี่ยงต่อการชำระหนี้อย่างชัดเจน ระบุปีที่ผ่านมา มีลูกค้าค้างชำระเกิน 90 วัน แค่ 5.5% ของลูกหนี้รวมเท่านั้น

ดร.อมร มีมะโน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คราวน์ เทค แอดวานซ์ จำกัด (มหาชน) (AJD) กล่าวถึงข้อมูลในงบการเงินปี 2559 กรณีลูกหนี้ผ่อนชำระสุทธิ 1,011 ล้านบาท คิดเป็น 34% ของสินทรัพย์รวม และเพิ่มขึ้น 13 เท่าของยอดลูกหนี้ผ่อนชำระปี 2558 ที่มีจำนวน 124 ล้านบาทว่า รายการลูกหนี้ผ่อนชำระดังกล่าวเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจของบริษัท เวนดิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (VDC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย AJD ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 60.08 โดยดำเนินธุรกิจตู้เติมเงินออนไลน์ และชำระค่าสินค้า และบริการผ่านระบบ ตู้เติมเงิน โดยเป็นยอดการผ่อนชำระตู้เติมเงิน ซึ่งในปี 2559 บริษัทมียอดขายตู้เติมเงินเพิ่มขึ้นจากปี 2558 หลังจากบริษัทย่อยดังกล่าวได้เริ่มดำเนินธุรกิจในไตรมาส 4/2558 ทำให้จำนวนยอดผ่อนชำระในปี 2559 เพิ่มขึ้น

“สาเหตุที่ VDC จำเป็นต้องทำการขายสินค้าผ่านระบบการผ่อนชำระเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากลูกค้าหลักเป็นกลุ่มที่มีความต้องการลงทุน โดยใช้เงินลงทุนเริ่มต้นจำนวนไม่มาก นอกจากนั้นแล้ว การให้สินเชื่อโดยสถาบันการเงินอื่นๆ มีอุปสรรคสำคัญ คือ หากลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้แล้ว การยึดสินทรัพย์มาขายทอดตลาดนั้น ทำได้ยาก เนื่องจากตู้เติมเงินนั้น เป็นสินทรัพย์ประเภทสร้างรายได้ และยังคงต้องเชื่อมต่อกับระบบของ VDC เพื่อสามารถใช้งานเสมอ ซึ่งในกรณีที่มีการผิดรับชำระหนี้แล้ว VDC จะทำการปิดระบบ และนำตู้กลับมาบำรุงรักษา และขายต่อได้” ดร.อมร กล่าว

ทั้งนี้ VDC มีแนวทางในการรับชำระหนี้ โดยตัดค่างวดรับชำระหนี้จากระบบ ตู้เติมเงินออนไลน์ของลูกหนี้ผ่อนชำระเอง และบริษัทมีวิธีการป้องกันความเสี่ยงรวมถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน โดยปี 2559 มีลูกค้าค้างชำระเกิน 90 วัน คิดเป็น 5.5% ของลูกหนี้รวม

ดร.อมร กล่าวอีกว่า วิธีการป้องกันความเสี่ยงต่อการชำระหนี้ รวมถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจนมีรายละเอียดดังนี้ คือ 1.เพื่อให้เจ้าของตู้เติมเงินสามารถสร้างรายได้ได้เพียงพอต่อการชำระหนี้ VDC ได้กำหนดให้มีการแบ่งเขตการขาย และมีผู้จัดการเขตคอยดูแลการขายเพื่อแนะนำแนวทางการทำธุรกิจตู้เติมเงินให้กับลูกค้า รวมทั้งควบคุมจุดวางตู้เติมเงิน เพื่อไม่ให้มีความหนาแน่นมากจนเกินไป

2.ในกรณีที่ลูกหนี้ผ่อนชำระมีการค้างชำระอันมีสาเหตุมาจากการโอนเงินเข้าระบบไม่ทัน VDC ได้มีการกำหนดหน่วยงานในการดูแลติดตามให้ลูกหนี้ผ่อนชำระดังกล่าวทำการเติมเงินเข้าระบบเข้ามา เพื่อให้ VDC สามารถตัดชำระหนี้ได้

3.ในกรณีที่เจ้าของตู้เติมเงินไม่สามารถสร้างรายได้ได้เพียงพอต่อการชำระหนี้ และมีการผิดนัดชำระหนี้ทาง VDC จะมีการปรับเงื่อนไขการผ่อนชำระเพื่อให้ลูกค้าเจ้าของตู้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ รวมทั้งมีการเข้าไปให้คำแนะนำในวิธีการดำเนินธุรกิจตู้เติมเงินอย่างใกล้ชิด 4.ในกรณีที่ลูกหนี้ผ่อนชำระไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ VDC จะนำตู้เติมเงินดังกล่าวกลับมาปรับปรุงสภาพเพื่อทำการขายให้กับลูกค้าอื่นต่อไป ซึ่งในกรณีนี้ VDC จะมีต้นทุนในการปรับปรุงสภาพไม่มากนัก และสามารถทำการจัดจำหน่ายใหม่ได้ในราคาเต็ม หรือให้ส่วนลดเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม VDC มีหน่วยงานคอยติดตาม ที่จะคอยติดตามทวงถามหนี้อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ บริษัทมีการพิจารณาลูกหนี้ก่อนการให้เครดิตเทอม จากทำเลที่ตั้งของตู้เติมเงินที่จะสามารถสร้างรายได้ให้เพียงพอแก่การผ่อนชำระเงิน นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาหลักเกณฑ์ตามขนาดของวงเงินกู้เช่นเดียวกันกับสถาบันการเงิน โดยหากพิจารณาตามงบการเงินปี 2559 ทาง VDC ได้ดำเนินการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ เป็นไปตามนโยบายที่ได้กำหนดไว้โดยมีการตั้งสำรองรวมจำนวนทั้งสิ้น 49 ล้านบาท

ดร.อมร กล่าวย้ำว่า จากแนวทางแก้ไขปัญหา และหลักเกณฑ์การให้เครดิตเทอมลูกค้าที่ชัดเจน ซึ่งเป็นการช่วยลดความเสี่ยงในการชำระหนี้ของลูกค้า ทำให้บริษัทฯ มั่นใจว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ของ VDC เป็นลูกค้าชั้นดีมีคุณภาพ ส่วนใหญ่มีการชำระหนี้ตามเวลา ซึ่งสะท้อนจากในปีที่ผ่านมา มีลูกค้าค้างชำระเกิน 90 วัน ในสัดส่วนไม่มาก โดยอยู่ที่ 5.5% ของลูกหนี้รวมเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น