xs
xsm
sm
md
lg

กำไรแบงก์ไตรมาสแรก-ไทยพาณิชย์ สูงสุดที่ 1.19 หมื่น ล.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผลประกอบการแบงก์ไตรมาสแรก ไทยพาณิชย์ กำไรที่ 1.19 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้น 13% สูงสุดของระบบ ขณะกสิกรฯ ตามมาด้วยยอดกำไร 1.01 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้น 5.45% ด้านแบงก์กรุงเทพ กำไร 8.3 พันล้าน ยังคงต้องสำรองเพิ่มต่อเนื่อง รับภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

ธนาคารกรุงเทพ รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2560 จำนวน 8,305 ล้านบาท อยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาส 1 ปีก่อนที่ 8,317 ล้านบาท โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ จำนวน 16,277 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.5% และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 2.35% สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 10,939 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5%

ด้านเงินให้สินเชื่อมีจำนวน 1,923,953 ล้านบาท ลดลง 0.9% จาก สิ้นปี 2559 โดยเป็นการลดลงของสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายกลาง และรายปลีก สินเชื่อลูกค้าบุคคล และสินเชื่อกิจการต่างประเทศ สำหรับสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2560 มีจำนวน 77,772 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.5% ของเงินให้สินเชื่อรวม ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้าส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงติดตามดูแลคุณภาพสินเชื่ออย่างใกล้ชิด และตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 1 ปี 2560 มีการตั้งสำรองจำนวน 5,806 ล้านบาท ทำให้เงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของธนาคาร อยู่ที่ 124,446 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.5% ของเงินให้สินเชื่อ

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยประกาศผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 ปี 2560 มีกำไรสุทธิจำนวน 10,171 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 5.45% เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น จำนวน 888 ล้านบาท หรือ 4.00% ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) อยู่ที่ระดับ 3.41% ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง จำนวน 2,034 ล้านบาท หรือ 11.59%

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2559 ธนาคาร และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 10,171 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน จำนวน 73 ล้านบาท หรือ 0.71% ส่วนใหญ่เกิดจากธนาคารมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับความไม่แน่นอนในเรื่องของภาวะเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ธนาคาร และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักหนี้สูญ และหนี้สงสัยจะสูญ และภาษีเงินได้ จำนวน 23,381 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 2,830 ล้านบาท หรือ 13.77%

สำหรับเอ็นพีแอล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560 อยู่ที่ระดับ 3.31% ขณะที่สิ้นปี 2559 อยู่ที่ระดับ 3.32% อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560 อยู่ที่ระดับ 134.94% ขณะที่สิ้นปี 2559 อยู่ที่ระดับ 130.92%

ธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัทย่อยประกาศผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 1/2560 มีผลกำไรสุทธิจำนวน 11,912 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.0% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2559 ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิ รวมถึงการลดลงของค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัย โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิตามงบการเงินรวมในไตรมาส 1/2560 มีจำนวน 22,561 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.1% จากไตรมาส 1/2559 เป็นผลมาจากการขยายตัวของสินเชื่อ 6.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยตามงบการเงินรวมในไตรมาส 1/2560 มีจำนวน 10,624 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.2% จากไตรมาส 1/2559 เป็นผลจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิ และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยที่ดีขึ้นจากการลดลงของค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัย

ส่วนเอ็นพีแอลไตรมาส 1 อยู่ที่ 2.70% เพิ่มขึ้น 0.06% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2559 ส่วนใหญ่เกิดจากสินเชื่อเคหะ และสินเชื่อธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม สำหรับไตรมาสนี้ ธนาคารได้ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ จำนวน 5,010 ล้านบาท หรือ 1.03% ของสินเชื่อรวม ส่งผลให้อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นเป็น 133.4% ณ สิ้นไตรมาส 1/2560 จาก 122.8% ณ สิ้นไตรมาส 1/2559

CIMBT กำไรลด 5.6% LH BANK กำไรเพิ่ม 2.6%

นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) (CIMBT) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร สำหรับงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2560 มีกำไรสุทธิ 121.2 ล้านบาท ลดลง 206.1 ล้านบาท หรือคิดเป็น 63.0% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันสาเหตุหลักเกิดจากสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น 7.0% เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระหว่างงวด โดยมีอัตราส่วน NIM อยู่ที่ร้อยละ 3.77 เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 3.72 เป็นผลจากการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560 เงินให้สินเชื่อสุทธิอยู่ที่ 200.6 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 กลุ่มธนาคารมีเงินฝาก จำนวน 217.3 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.8 จากสิ้นปี 2559 ซึ่งมีจำนวน 223.5 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของกลุ่มธนาคารลดลงเป็นร้อยละ 92.3 จากร้อยละ 92.4 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559

ด้านเอ็นพีแอลของธนาคารอยู่ที่ 11.2 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.3 ลดลงเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 อยู่ที่ร้อยละ 6.1 มีสาเหตุหลักจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพในไตรมาส 1/2560 ประกอบกับธนาคารมีมาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ และการแก้ปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับปรุงแนวทางในการเรียกเก็บหนี้จากสินเชื่อด้อยคุณภาพที่มีอยู่

บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (LHBANK) แจ้งผลประกอบการไตรมามาสแรก มีกำไร 586 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ในระดับ 571 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น