xs
xsm
sm
md
lg

เอดีบี ชี้ 3 ปัจจัยเสี่ยง ศก.ไทย แนะยกระดับการศึกษา-นวัตกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอดีบี คาดจีดีพีไทยโต 3.5% จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยง “ดอกเบี้ยเฟด-นโยบายการค้า-ความมั่นคงโลก” แนะ “ประเทศไทย 4.0” ต้องยกระดับการศึกษา-นวัตกรรม ดันไทยหลุดกับดักรายได้ปานกลาง

นางลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโส ประจำประเทศไทย ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) กล่าวว่า เอดีบีคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ระดับ 3.5% และ 3.6% ในปี 2561จากปี 2559 ที่ระดับ 3.2% จากการขยายตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก การบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง จากราคาสินค้าเกษตรที่ฟื้นต้ว ตลอดจนการดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลที่จะส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ประมาณ 3-4% จากปีก่อนที่ 0% และการส่งออกที่ฟื้นตัวขึ้น โดยคาดว่าปีนี้จะเติบโตได้ 3% บวก-ลบ 0.5%

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงต้องติดตามเป็นกรณี การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีอีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ รวมถึงนโยบายการค้า-ภาษีของสหรัฐฯ ที่ยังไม่ชัดเจน และราคาน้ำมันที่อาจได้รับผลกระทบจากความมั่นคงของโลก

ส่วนประเทศเศรษฐกิจหลักโดยรวม คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ 1.9% และเศรษฐกิจเอเชียคาดการณ์ว่า จะเติบโต 5.7% ลดลงเล็กน้อยจาก 5.8% ในปีก่อน

“ในเรื่องของความมั่นคงโลกนั้น ขณะนี้เรายังคงประเมินว่า ไม่ลุกลาม แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบกับราคาน้ำมัน และราคาสินทรัพย์มั่นคง อาทิ ทองคำจะสูงขึ้น และยังคงเป็นปัจจัยที่ยังต้องติดตาม และยังคงคาดเดาได้ยาก ส่วนเรื่องการเมืองของไทยนั้น เรามองว่า การเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นได้ในปลายปีหน้า ซึ่งเท่าที่ดูแล้วมักจะไม่ค่อยกระทบกับเศรษฐกิจ ซึ่งเราจะดูที่ความต่อเนื่องของนโยบาย และโครงการลงทุนต่างๆ เป็นหลัก ก็พบว่าแนวนโยบาย และโครงการต่างๆ ค่อนข้างจะต่อเนื่องได้ดี”

แนะยกระดับการศึกษา-นวัตกรรม

นางลัษมณ กล่าวอีกว่า นอกจากการเติบโตของจีดีพีแล้ว เอดีบียังมองความท้าทายเชิงนโยบาย และเศรษฐกิจไทยภายใต้โครงการ “ประเทศไทย 4.0” ซึ่งจะเป็นการปฏิรูปทั้งในด้านการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และยกระดับคุณภาพแรงงาน อันนำพาไปสู่การหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศที่มีรายได้สูงนั้น เอดีบี เห็นว่า เป็นเรื่องที่มาถูกทางแล้ว การก้าวไปสู่จุดดังกล่าวสิ่งสำคัญที่ต้องมี ได้แก่ ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ และนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยดังกล่าวประเทศไทยยังต้องบริหารจัดการให้ดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลาที่ไทยจะกำลังจะเข้าสูงสังคมสูงวัยในระยะอันใกล้นี้

“ขณะที่ภาคการศึกษาของไทยก็ถือเป็นเรื่องที่ต้องบริหารจัดการให้ดียิ่งขึ้นเช่นกัน เพราะดูจากตัวเลขการใช้จ่ายด้านการศึกษาของไทยที่สูงกว่ามาเลเซีย และเวียดนาม แต่ผลการสอบ PISA ที่วัดผลความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเลขต่ำกว่าทั้ง 2 ประเทศ 20% หรือตัวเลขเฉลี่ยการใช้เวลาในสถานศึกษาของประชากรไทยอยู่ที่ 7 ปี ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำ หรือหากวัดระดับแล้วอาจจะยังไม่จบขั้นมัธยม ขณะที่ประเทศรายสูงจะอยู่ที่ 10 ปี ขณะที่การพัฒนาด้านนวัตกรรมนั้น ก็ยังมีไม่มากนักดังจะเห็นได้จากจำนวนการจดสิทธิบัตรต่างๆ ดังนั้น จึงต้องมีดูแลในทั้ง 2 ส่วน ซึ่งมีความสำคัญต่อการยกระดับเราไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง”
กำลังโหลดความคิดเห็น