xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯ กำไรเพิ่ม-ซีไอเอ็มบีลด กันสำรองเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กสิกรไทย แจ้งกำไรไตรมาสแรก 1 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้น 5.45% จากรายได้ดอกเบี้ยที่ยังเติบโต เอ็นพีแอลทรงตัว และยังคงตั้งสำรองฯ เพิ่มตามภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่ซีไอเอ็มบีไทย กำไร 121 ล้านบาท ลดลง 63%

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยประกาศผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 ปี 2560 โดยธนาคารมีกำไรสุทธิ จำนวน 10,171 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 5.45% เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น จำนวน 888 ล้านบาท หรือ 4.00% โดยอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin : NIM) อยู่ที่ระดับ 3.41% อย่างไรก็ตาม รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง จำนวน 2,034 ล้านบาท หรือ 11.59% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้สุทธิจากการรับประกันภัย และรายได้จากผลิตภัณฑ์ตลาดทุนที่ลดลง รวมถึงการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญตามภาวะเศรษฐกิจ ทั้งนี้ อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) ในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับ 39.44%

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2559 ธนาคาร และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ จำนวน 10,171 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนจำนวน 73 ล้านบาท หรือ 0.71% ส่วนใหญ่เกิดจากธนาคารมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับความไม่แน่นอนในเรื่องของภาวะเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ธนาคาร และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักหนี้สูญ และหนี้สงสัยจะสูญ และภาษีเงินได้ จำนวน 23,381 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 2,830 ล้านบาท หรือ 13.77% ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ลดลง จำนวน 2,382 ล้านบาท หรือ 13.53% นอกจากนี้ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน จำนวน 364 ล้านบาท หรือ 2.40% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ค่าธรรมเนียม และบริการสุทธิ รายได้สุทธิจากการรับประกันภัย และรายได้จากผลิตภัณฑ์ตลาดทุนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) ในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับ 39.44%

สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (% NPL gross) ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560 อยู่ที่ระดับ 3.31% ขณะที่สิ้นปี 2559 อยู่ที่ระดับ 3.32% อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560 อยู่ที่ระดับ 134.94% ขณะที่สิ้นปี 2559 อยู่ที่ระดับ 130.92% และอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560 อยู่ที่ 17.51% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 15.03%

ซีไอเอ็มบีไทย กำไรลด 5.6%

นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร สำหรับงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2560 มีกำไรสุทธิ 121.2 ล้านบาท ลดลง 206.1 ล้านบาท หรือร้อยละ 63.0 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันสาเหตุหลักเกิดจากสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระหว่างงวด โดยในไตรมาสแรกธนาคารมีรายได้จากการดำเนินงานจำนวน 3,129.9 ล้านบาท ลดลง 184.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.6 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2559 สาเหตุหลักเกิดจากการลดลงของรายได้อื่นร้อยละ 59.3 ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพื่มขึ้นร้อยละ 3.0 และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ ร้อยละ 27.6 ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักหนี้สงสัยจะสูญลดลงร้อยละ11.3 เป็นจำนวน 1,382.6 ล้านบาท มีอัตราส่วน NIM อยู่ที่ร้อยละ 3.77 เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 3.72 เป็นผลจากการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชีของกลุ่มธนาคาร อยู่ที่ 200.6 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 กลุ่มธนาคาร มีเงินฝาก จำนวน 217.3 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.8 จากสิ้นปี 2559 ซึ่งมีจำนวน 223.5 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของกลุ่มธนาคาร ลดลงเป็นร้อยละ 92.3 จากร้อยละ 92.4 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559

ด้านเอ็นพีแอลของธนาคารอยู่ที่ 11.2 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้น (NPL ratio) อยู่ที่ร้อยละ 5.3 ลดลงเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 อยู่ที่ร้อยละ 6.1 มีสาเหตุหลักจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพในไตรมาส 1/2560 ประกอบกับธนาคารมีมาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ และการแก้ปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับปรุงแนวทางในการเรียกเก็บหนี้จากสินเชื่อด้อยคุณภาพที่มีอยู่

อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560 อยู่ที่ร้อยละ 81.2 เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2559 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 77.3 ตามนโยบายการตั้งสำรองอย่างระมัดระวัง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560 เงินสำรองของกลุ่มธนาคาร อยู่ที่จำนวน 9.0 พันล้านบาท ซึ่งเป็นสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย จำนวน 3.4 พันล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น