ตลาดหุ้นเกิดปรากฏการณ์ใหม่อย่างเงียบๆ ถ้าไม่สังเกต จะไม่ได้รู้เลยว่า การเพิ่มทุนของบริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง เริ่มเผชิญภาวะหืดขึ้นคอมากขึ้น โดยเฉพาะการออกหุ้นใหม่ขายผู้ถือหุ้นเดิม
เพราะผู้ถือหุ้นรายย่อยพากันสละสิทธิมากขึ้น ไม่ยอมควักกระเป๋าซื้อหุ้นเพิ่มทุน ทำให้แผนการระดมทุนของบริษัทจดทะเบียนหลสยแห่งไม่บรรลุเป้า
ล่าสุดบริษัท แมกซ์ เมทัล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ก็ประสบปัญหาเดียวกัน หลังจากที่บริษัท เฟอร์รั่ม จำกัด(มหาชน)ประสบปัญหาไปก่อนหน้า
“เฟอร์รั่ม”ออกหุ้นใหม่จำนวน759,199,980 หุ้น จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 2 หุ้นเดิมต่อ 5 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 1 บาท กำหนดชำระค่าหุ้นระหว่างวันที่ 1-7 กุมภาพันธ์ 2560 แต่ปรากฏว่า ผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิจองซื้อ114,860,365 หุ้น หรือประมาณ 15%ของหุ้นใหม่ที่นำมาจัดสรรทั้งหมด
ผู้ถือหุ้นรายย่อยส่วนใหญ่สละสิทธิการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งรวมถึงผู้ถือหุ้นใหญ่อีกหลายคนด้วย ดังนั้น การเพิ่มทุนครั้งนี้ จึงมีแต่ผู้ถือหุ้นรายย่อยส่วนน้อยเท่านั้นที่ส่งเงินอุดหนุนบริษัท
อย่างไรก็ตามฝ่ายบริหาร “เฟอร์รั่ม”ยังกอบกู้ก้สถานการณ์เพิ่มทุนได้ เพราะหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 300 ล้านหุ้น ที่เสนอขายบุคคลในวงจำกัด(พีพี) 3 ราย ในราคา 1 บาท ขายได้หมด ทั้งที่ราคาหุ้นในกระดาน เคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 60 สตางค์เศษ ซึ่งถือว่าผู้ซื้อหุ้นพีพีทั้ง 3 รายใจถึงมาก
ส่วนแมกซ์ออกหุ้นใหม่จำนวน 49,583,851,118 หุ้น จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 2 หุ้นเดิมต่อ 5 หุ้นใหม่ เสนอขายในราคาหุ้นละ 5 สตางค์ เพิ่งปิดการจองซื้อเมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่า ผู้ถือหุ้นจองซื้อทั้งสิ้น 10,014,354,297 หุ้น หรือประมาณ 20% ของหุ้นใหม่ที่นำเสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมทั้งหมด
เงินที่กะว่าจะระดมประมาณ 2,500 ล้านบาท จึงระดมได้เพียง 500 ล้านบาทเศษ
และผู้ถือหุ้นที่ควักเงินจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนแมกซ์ครั้งล่าสุด น่าจะเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยทั้งหมด เช่นเดียวกับ “เฟอร์รั่ม” โดยผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างนายขจรศิษฐ์ สิ่งสรรเสริญ ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 27.68% ของทุนจดทะเบียน ตามข้อมูลล่าสุด ไม่น่าจะจองซื้อ
เพราะถ้านายขจรศิษฐ์ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ1 ใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนเต็มจำนวน หุ้นคงไม่เหลือขายบานเบอะ
ปรากฏการณ์สละสิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่เกิดขึ้นในบริษัท เฟอร์รั่ม ตามมาด้วยบริษัท แมกซ์นั้น ทำให้เกิดคำถามตามมา
ทำไมผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่ยอมใส่เงินเพิ่มทุนบริษัทตัวเอง ทำไมปล่อยให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยเป็นผู้ควักกระเป๋า
และทำไมผู้ถือหุ้นรายย่อยส่วนใหญ่ จึงพากันสละสิทธิทิ้งหุ้นเพิ่มทุน เหมือนกับนัดหมายกันไว้
คำถามเหล่านี้จะเป็นโจทย์ให้นักลงทุนในตลาดหุ้นขบคิดหาคำตอบ เพราะวันใดวันหนึ่ง นักลงทุนจะอยู่ในฐานะที่ต้องตัดสินใจ เหมือนผู้ถือหุ้นรายยอยใน “เฟอร์รั่ม”และ “แมกซ์”
ต้องตัดสินใจว่า ควรจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนดีหรือไม่
เพราะถ้ายังไม่ตัดสินใจจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน เงินยังอยู่ในกระเป๋าของผู้ถือหุ้น แต่ถ้าจ่ายเงินซื้อหุ้นเพิ่มทุนไปแล้ว เงินจะถูกเคลื่อนย้ายไปอยู่ภายใต้การตัดสินใจของฝ่ายบริหารบริษัทจดทะเบียน
ถ้าฝ่ายบริหารบริษัทจดทะเบียนนำไปก่อดอกออกผลคงไม่เป็นไร แต่เพิ่มทุนแล้วเพิ่มทุนอีก เงินของผู้ถือหุ้นละลายหาย ผู้ถือหุ้นรายย่อยคงเข็ดกับการเพิ่มทุนเหมือนกัน
และปรากฏการณ์สละสิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง น่าจะเป็นผลพวงของผู้ถือหุ้นรายย่อยที่แหยงพฤติกรรมของฝ่ายบริหารบริษัทจดทะเบียน
การเพิ่มทุนสูบเงินจากผู้ถือหุ้นรายย่อย นับจากนี้ไม่ง่ายแล้ว โดยเฉพาะบริษัทที่เพิ่มทุนถี่ แต่ผลประกอบการขาดทุนทั้งปีทั้งชาติ