ยิ่งเวลาผ่านไป ยิ่งทำให้รู้แจ้ง เห็นข้อเท็จจริงว่า ปัญหาของบริษัท อินเตอร์ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น ”เอเฟค”อยู่ตรงจุดไหน และจะแก้ไขกันอย่างไร
เพราะสถานการณ์ทุกอย่างตกผลึกหมดแล้ว วิกฤตบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ ไม่ได้อยู่ที่การผิดนัดชำระหนี้ ไม่ได้อยู่ที่ฐานะการเงิน ไม่ใช่ความขัดแย้งในคณะกรรมการบริษัท หรือหุ้นถูกขึ้นเครื่องหมาย “เอสพี” พักการซื้อขาย
แต่อยู่ที่นายแพทย์วิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการ “ไอเฟค” และกรรมการบริษัทบางคนเท่านั้น
ถ้านายแพทย์วิชัยตระหนักถึงความเดือดร้อนของผู้ถือหุ้น มุ่งมั่นแก้วิกฤตองค์กร บริหารงานอย่างตรงไปตรงมา ไม่ติดยึดในอำนาจ ไม่มีผลประโยชน์อื่นใดแอบแฝง การกอบกู้วิกฤต “ไอเฟค”น่าจะคืบหน้ามากกว่าที่เป็นอยู่
แต่ผ่านมาเกือบ 6 เดือน การแก้ไขปัญหาทุกอย่างหยุดชะงัก การประชุมคณะกรรมการบริษัทล่ม เรียกประชุมผู้ถือหุ้นไม่ได้ และมองไม่เห็นว่า ฝ่ายบริหารบริษัทจะหาทางออกอย่างไร
ผู้ถือหุ้น “ไอเฟค” จำนวนทั้งสิ้น 27,861 คน ให้เวลานายแพทย์วิชัยมากพอแล้ว และคงไม่ยอมให้โอกาสต่อไป โดยเริ่มเคลื่อนไหว ร่อนหนังสือเรียกร้องให้นายแพทย์วิชัยแสดงสปิริต โดยลาออกจากตำแหน่ง เปิดทางให้คณะกรรมการชุดใหม่เข้าบริหารงานแทน
ไม่ว่านายแพทย์วิชัยจะยอมทำตามข้อเรียกร้องของผู้ถือหุ้นหรือไม่ แต่ชะตากรรมดูเหมือนถูกกำหนดไว้แล้ว โดยการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งต่อไป จะกำหนดเมื่อใดก็ตาม ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่คงโหวตปลดนายแพทย์วิชัยพร้อมกรรมการอีกหลายคนที่เป็นตัวปัญหา
เพราะถ้าไม่ปลดนายแพทย์วิชัย ต้นตอของปัญหาต่างๆใน “ไอเฟค”คงไม่อาจแก้ไข ผู้ถือหุ้นคงได้แต่นั่งรอวันตาย
นายแพทย์วิชัยน่าจะประเมินสถานการณ์ได้ รู้แล้วว่าเวลากำลังหมดลง และถ้าหลุดจากอำนาจบริหาร “ไอเฟค” วันใด อาจถูกเช็คบิลล์ชุดใหญ่
คดีฟ้องร้องในปัจจุบันแทบนับไม่ถ้วนอยู่แล้ว และหลายปีที่บริหารงาน ไม่รู้ว่า ”ซุก” อะไรไว้ใต้พรมบ้างหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ จะเข้ามารื้อฟื้นความเสียหายที่เกิดขึ้น ขณะที่ผู้ถือหุ้นจะรุกไล่เรียกร้องให้ตรวจสอบพฤติกรรมการบริหารย้อนหลัง
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ยังไม่มีการกล่าวโทษผู้บริหาร
“ไอเฟค” ในความผิดใด แต่ผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหายจากการบริหารงานคณะกรรมการชุดนายแพทย์วิชัย คงมีความเชื่อว่า น่าจะต้องมีคนที่ต้องชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นในบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้
การบริหารงานของ “ไอเฟค” มีปมที่ถูกตั้งข้อสงสัยมานานแล้ว แต่เพิ่งถูกเปิดเป็นประเด็นฉาวโฉ่ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า การกำกับดูแล ตรวจสอบพฤติกรรมการบริหารงานของบริษัทจดทะเบียนยังไม่เข้มข้นและมีประสิทธิภาพเพียงพอ
แม้จะมีกรรมการอิสระ มีกรรมการตรวจสอบนั่งประจำทุกบริษัทจดทะเบียน แต่ไม่อาจสอดส่องดูแลและควบคุมฝ่ายบริหารให้ดำเนินงานอย่างโปร่งใสได้
กรณีนายแพทย์วิชัยจะเป็นอุทาหรณ์ของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ที่ควรตระหนักถึงบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบและสำนึกในการดูผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น โดยบริหารงานอย่างสุจริต ตามหลักธรรมาภิบาล
เพราะถ้าโลภ ถ้าเบียดบังผลประโยชน์ผู้ถือหุ้น ตักตวงความมั่งคั่งใส่ตัวเอง เหิมเกริมก่อพฤติกรรมผิด สักวันจะพลาด
คนที่ประพฤติมิชอบในตลาดหุ้น หากินโดยไม่สุจริต มักลำพองใจ คิดว่าตัวเองเก่ง คิดว่าฉลาดกว่าคนอื่น คิดว่ามีเส้นสาย มีเครือข่าย วิ่งเต้นได้ คิดว่าเงินซื้อทุกอย่างได้ แม้แต่กระบวนการยุติธรรม แต่ถ้าถึงเวลาที่ต้องชดใช้ความผิด ไม่มีใครช่วยให้หลุดจากบ่วงกรรมได้
ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนไม่มีใครเป็นยาจก แต่ละคนมีฐานะ เงินเดือนแพงๆ บางคนเป็นเศรษฐี ถ้าไม่เห็นแก่ได้ รู้จักพอ ชีวิตก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ ไม่ต้องมีผู้ถือหุ้นรายย่อยเป็นเจ้ากรรมนายเวร
นายแพทย์วิชัยแห่ง “ไอเฟค” จะเป็นอีกวิบากกรรมที่ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนจะต้องตระหนักในความ “พอดี” และ “พอเพียง” ไม่เบียดเบียนผู้ถือหุ้นรายย่อย