xs
xsm
sm
md
lg

เอเซีย พลัส คาด SET Index ครึ่งปีหลังดีขึ้นตอบรับรัฐเดินหน้าเลือกตั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเซีย พลัส คาด SET Index ครึ่งปีหลังดีขึ้นตอบรับรัฐเดินหน้าเลือกตั้ง และการเบิกจ่ายเป็นปัจจัยหนุน พร้อมมองเป้าสิ้นปี 1,620 จุดประเมินอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 60 ที่ระดับ 3.5% สูงกว่าปีก่อนที่เติบโต 3.2%

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้นกว่าช่วงครึ่งปีแรก มีปัจจัยสนับสนุนจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อตลาดหุ้นไทยที่จะเพิ่มมากขึ้น ขณะที่รัฐบาลเริ่มมีความชัดเจนในเรื่องการเดินหน้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะประกาศใช้ในวันที่ 6 เมษายนนี้ ประกอบกับการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐสำหรับการลงทุนขนาดใหญ่จะออกมามากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และดึงดูดการลงทุนมากขึ้น ด้านการส่งออกยังมีแนวโน้มที่ค่อยๆ ทยอยปรับตัวดีขึ้น รวมถึงภาคการท่องเที่ยวจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างดี

บล.เอเซีย พลัส ประเมินอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 60 ที่ระดับ 3.5% สูงกว่าปีก่อนที่เติบโต 3.2% โดยยังคงประมาณการดัชนี SET สิ้นปี 60 อยู่ที่ 1,620 จุด ระดับ P/E ที่ 16 เท่า และประเมินกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในปี 60 เติบโต 7.13% มาที่ 9.91 แสนล้านบาท จากระดับ 9.03 แสนล้านบาท ในปีก่อน โดยได้แรงหนุนจากสัดส่วนกำไรของกลุ่มพลังงาน ที่กลับมาเพิ่มขึ้นเป็น 25% จากปีก่อนที่ 10% เพราะราคาน้ำมันทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้น

ส่วนแนวโน้มกำไรบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1/60 คาดว่าจะใกล้เคียง หรือมากกว่าเล็กน้อยจากไตรมาส 1/59 ที่อยู่ระดับ 2.26 แสนล้านบาท โดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์ มีแนวโน้มสินเชื่อเติบโตได้ค่อนข้างดี ซึ่งคาดว่ากำไรของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 1/60 จะอยู่ที่ 5.4 หมื่นล้านบาท และกลุ่มพลังงาน ที่กำไรเริ่มกลับมาสู่ระดับปกติจากการขาดทุนสต๊อกน้ำมัน (Stock loss) เริ่มหมดไป หลังราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ธุรกิจเริ่มฟื้นตัว ซึ่งคาดว่ากำไรของกลุ่มพลังงาน ในไตรมาส 1/60 จะอยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่ง 2 กลุ่มธุรกิจถือเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตโดดเด่น และช่วยสนับสนุนให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 1/60 อยู่ในระดับที่ดี

ขณะเดืยวกัน ภายใต้การคาดการณ์อัตราการเติบโตกำไรของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ จะเติบโตได้กว่า 10% ทำให้มีการซื้อขายกันด้วย P/E ในระดับสูง 18 เท่า ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ทำให้ตลาดจะมีการปรับฐาน หากการปรับลดภาษีของสหรัฐฯ ทั้งระบบไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้กับตลาด ขณะที่ตลาดหุ้นไทย P/E ของตลาดอยู่ที่ 15.2 เท่า ซึ่งถือเป็นระดับถูก หรือใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน และตลาดในยุโรปบางแห่ง แต่หากเทียบกับอัตราการเติบโตของกำไร บจ.ที่คาดว่า จะโตเพียง 7.13% ในปีนี้ ซึ่งเป็นระดับที่ยังไม่สูงมากส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจน้อยลง

“แนวโน้มการเคลื่อนไหวของกระแสเงินทุนในไตรมาส 2/60 อาจจะเผชิญกับแรงกดดันจากสหรัฐฯ ที่เข้าสู่ช่วงภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น โดยรอบนี้ตลาดหุ้นไทยยังไม่ค่อยมีความไม่น่าสนใจ หลัง P/E สูงถึง 16.5 เท่า และ EPS Growth ปีนี้ก็เติบโตในระดับต่ำอยู่ที่ 7.13% เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นทั่วโลก และยังสอดคล้องกับสถิติ 10 ปีย้อนหลัง ที่พบว่าไตรมาส 2 ต่างชาติจะขายสุทธิหุ้นไทยเฉลี่ยกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการขายสุทธิถึง 7 ใน 10 ปี” นายเทิดศักดิ์ กล่าว

แม้ว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยยังคงมีความผันผวนนั้น แต่กลยุทธ์การลงทุนจะให้เน้นไปที่หุ้นที่มีหนี้สินต่ำหรือได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น เช่น บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต (BLA) และหุ้นที่มีสถานะเงินสดมาก และได้แรงหนุนจากกำลังซื้อที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น เช่น บมจ.ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน (ROBINS) ส่วนกลุ่มโรงพยาบาล ที่น่าสนใจ คือ บมจ.โรงพยาบาล ลาดพร้าว (LPH) กลุ่มโทรคมนาคม แนะนำให้ Switch ออกจากผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์หลังจากที่มีภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และกดดันกำไร แต่ให้แนะนำให้หันมาลงทุนหุ้นโทรคมนาคมที่รับเหมางานโครงข่าย และมี P/E ที่ไม่สูงมาก เช่น บมจ.เอแอลที เทเลคอม (AIT)

ส่วนกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง แนะนำ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) เพราะเป็นผู้รับเหมาที่ได้รับงานรถไฟฟ้าครบทุกสายที่เปิดประมูลทั้งหมด 3 สาย ได้แก่ สายสีส้ม เหลือง และชมพู และมีแนวโน้มที่งานในมือ (Backlog) ยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นได้สูง ด้านกลุ่มธนาคารพาณิชย์ แนะนำให้ลงทุนในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ที่จะได้อานิสงส์จากการลงทุนของธุรกิจขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และแนวโน้มของการขอสินเชื่อบริษัทขนาดใหญ่จะเพิ่มสูงขึ้น หลังภาคธุรกิจเริ่มหลีกเลี่ยงการออกหุ้นกู้ และตั๋ว B/E เพราะช่วงที่ผ่านมา มีปัญหาเกิดขึ้นมา ทำให้ภาคธุรกิจจะหันมาใช้สินเชื่อของธนาคารเพิ่มขึ้น ประกอบกับสินเชื่อรายย่อยที่มีแนวโน้มเติบโตโดยเฉพาะบัตรเครดิตกับสินเชื่อเช่าซื้อที่ธนาคารต่างๆ เริ่มรุกมากขึ้น โดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์ แนะนำ ธ.ไทยพาณิชย์ (SCB)
กำลังโหลดความคิดเห็น