xs
xsm
sm
md
lg

ต้นทุนการผลิตทองคำปี 2016

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ต้นทุนการผลิตทองคำของเหมืองทองคำถือว่าเป็นต้นทุนส่วนที่ส่งผ่านเข้าสู่ราคาทองคำโดยตรง ดังนั้น ต้นทุนดังกล่าวจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการประเมินราคาขั้นต่ำที่เป็นไปได้ของทองคำ โดยในที่นี้จะขอกล่าวถึงต้นทุนแบบ All-in Sustaining Cost (AISC) ที่เริ่มนำมาใช้ในปี 2555 ซึ่งต้นทุน AISC จะประกอบไปด้วยต้นทุน Cash Cost, ต้นทุนสำนักงาน ต้นทุนธุรการ, รวมถึงค่าเสื่อมราคา และตัดจำหน่าย และค่าใช้จ่ายในการสำรวจ ซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นทุนที่สะท้อนทุกค่าใช้จ่ายของการผลิตทองคำ โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เหมืองทองต่างๆ เดินหน้าลดต้นทุนการผลิตเพื่อให้บริษัทได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากการปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องของราคาทองคำ

จากข้อมูลล่าสุด ที่รวบรวมโดย IntelligenceMine ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ MINING.com พบว่า ปริมาณการผลิตทองคำเบื้องต้น โดยเหมืองทองที่ใหญ่ที่สุด 10 เหมือง ซึ่งเป็นบริษัทมหาชน และไม่ได้เป็นเจ้าของโดยรัฐ อยู่ที่ระดับ 29.46 ล้านออนซ์ ซึ่งลดลง 4% เมื่อเทียบกับปี 2015 แต่ยังคงถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเติมเต็มปริมาณการผลิตโดยรวมทั่วโลกที่อยู่ที่ระดับ 100 ล้านออนซ์ต่อปี โดย 10 บริษัทเหมืองทองที่ใหญ่ที่สุดของโลกประจำปี 2016 ยังคงไม่ต่างจากปี 2015 และมีต้นทุน AISC ดังนี้

บริษัทส่วนใหญ่ที่อยู่ 10 อันดับแรกต่างก็ประสบความสำเร็จในการลดต้นทุนต่อออนซ์ของการผลิตในปี 2016 โดยมีต้นทุน AISC อยู่ระหว่าง 572-986 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ด้านต้นทุน AISC โดยเฉลี่ยของบริษัทเหมืองทองที่ใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรกอยู่ที่ 856 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ขณะที่คาดการณ์กันว่า ปริมาณการผลิตทั่วโลกในปี 2017 อาจลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จากปัญหาการค้นพบที่น้อยลง, เกรดหรือคุณภาพที่ต่ำลง, ความยุ่งยากทางเศรษฐศาตร์ และกฎระเบียบในหลายประเทศ ซึ่งหากปริมาณอุปทานลดลงจริงตามคาดก็จะเป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนให้ราคาทองคำมีเสถียรภาพมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น