ส.ธนาคารไทย ปรับปรุงจรรยาบรรณ สร้างความเชื่อมั่น-ไว้วางใจ ตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี โดยมีหลักการสำคัญ 3 เรื่อง และ 9 หลักการที่ใช้ยึดถือปฏิบัติ เพื่อให้ทันสมัย และเท่าทันกับความคาดหวังของสังคม
สมาคมธนาคารไทย ประกาศปรับปรุงจรรยาบรรณธนาคารพาณิชย์ พัฒนาเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน เพื่อให้ทันสมัย และเท่าทันกับความคาดหวังของสังคม โดยตั้งอยู่บนหลักการสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1 หลักความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา 2 หลักความเป็นธรรม และ 3 หลักการดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรับผิดชอบ
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ทั้งสามหลักการจะสร้างความเชื่อมั่น และความไว้วางใจ หรือ Trust ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับธนาคารพาณิชย์ ความไว้วางใจจะต้องเริ่มจากพฤติกรรมของธนาคารพาณิชย์ที่จะต้องแสดงให้เห็นในทุกระดับ ตั้งแต่ คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ตลอดจนวิธีการสื่อสารรูปแบบต่างๆ ความท้าทายต่อจากนี้ไป คือ จะต้องเร่งทำหลักการในจรรยาบรรณให้เกิดผลได้จริงในทางปฏิบัติ ให้ประชาชนผู้ใช้บริการสัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลง
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 58 สมาคมฯ ได้ร่วมกันกำหนดทิศทางแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ของอุตสาหกรรมธนาคารโดยครอบคลุม 5 ด้าน ได้แก่ การสร้างระบบชำระเงิน และธนาคารดิจิตอล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผน National E-payment, การสร้างสังคมทางการเงิน ด้วยการยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานด้วยจรรยาบรรณธนาคาร (Banking Industry Code of Conduct) และส่งเสริมการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน, การสนับสนุนการทำธุรกรรมการเงินในภูมิภาคให้สะดวกต่อการทำธุรกิจ, การเข้าถึงบริการทางการเงินทุกภาคส่วน และการผลักดันแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างระบบธนาคารที่มีประสิทธิภาพสูงในระยะยาว และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการลงนามในวันนี้เป็นอีกก้าวหนึ่งในการบรรลุแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะ CEO Sponsor แผนยุทธศาสตร์ 5 ปี สมาคมธนาคารไทย ด้าน Banking Industry Code of Conduct เปิดเผยว่า การจัดทำจรรยาบรรณของธนาคารพาณิชย์มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างมาตรฐานให้กับอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ ในการประกอบธุรกิจอย่างมีจรรยาบรรณ และยกระดับความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าว่า จะได้รับการบริการที่มีความยุติธรรม ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้องก่อนการตัดสินใจใช้บริการจรรยาบรรณของธนาคารพาณิชย์ฉบับแรกได้จัดทำตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งธนาคารส่วนใหญ่มีการกำหนดจรรยาบรรณของตัวเอง และแม้จะมีเนื้อหาแตกต่างกัน แต่ก็ยังอยู่ภายใต้ขอบเขต และสอดคล้องกับจรรยาบรรณฉบับดังกล่าว
สำหรับการจัดทำจรรยาบรรณของธนาคารพาณิชย์ฉบับใหม่ครั้งนี้ คณะทำงานได้ศึกษาจรรยาบรรณของธนาคารพาณิชย์ในต่างประเทศ ตลอดจนจรรยาบรรณของอุตสาหกรรมอื่นๆ และนำมาเพิ่มเติมในจรรยาบรรณฉบับเดิมเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล รวมถึงสถานการณ์ และภาวะแวดล้อมต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป
ประกอบด้วย 9 หลักการ ได้แก่ 1) จรรยาบรรณด้านการประกอบธุรกิจ 2) บทบาทของกรรมการและผู้บริหาร 3) มาตรฐานการให้บริการ 4) พนักงานและสภาพแวดล้อมในการทำงาน 5) ความรับผิดชอบต่อลูกค้า 6) ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ 7) การจัดการข้อมูล 8) การกำกับดูแลโดยรวม 9) การแข่งขันทางการค้าและการระงับข้อพิพาท ซึ่งแต่ละธนาคารจะนำจรรยาบรรณของธนาคารพาณิชย์ฉบับนี้ไปกำหนดเป็นมาตรฐานในการปรับปรุง และพัฒนาการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการสื่อสาร และอบรมให้พนักงานเข้าใจ และปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน