บิ๊ก “เอเซีย พลัส” คาดกำไรผลประกอบการปีนี้เติบโตไม่น้อยกว่า 30% จากสัดส่วนรายได้ในธุรกิจทั้งหมด พร้อมเล็งปั้นธุรกิจสตาร์ทอัป และเพิ่มสัดส่วนลงทุนหุ้นในต่างประเทศ
นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้ง หรือ ASP กล่าวว่า บริษัทฯ ประเมินผลประกอบการรายได้ในปีนี้ คาดว่าจะยังคงรักษาระดับอัตรากำไรสุทธิปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 20-30% ซึ่งเป็นไปตามสัดส่วนรายได้เฉลี่ยของบริษัท จากค่าธรรมเนียมที่ 50% และการลงทุน 20% ขณะที่ในส่วนของงานวิณิชธนกิจนั้น จะอยูที่ประมาณ 10-20% และรายได้ที่เหลือจะเป็นในส่วนที่มาจากแหล่งอื่นๆ โดยเฉพาะเทรนการลงทุนใหม่ในปีนี้บริษัทฯ กำลังพิจารณาในธุรกิจสตาร์ทอัป และหุ้นในต่างประเทศเพิ่มเติม
ขณะที่ในส่วนของงานด้านวาณิชธนกิจ หรือ IB ขณะนี้มีลูกค้าอยู่ที่ 57 ราย แบ่งเป็นงานเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน หรือ FA ในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 29 ราย โดยคาดว่าจะสามารถเสนอขายหุ้น IPO ได้ทั้งหมด 4 บริษัท ในปีนี้ส่วนที่เหลืออีก 28 ราย มีทั้งงานที่ปรึกษาฯ การออกตราสารทางการเงินต่างๆ และการควบรวมกิจการ หรือ M&A อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การออกตราสารทางการเงิน หรือหุ้นกู้ในปีนี้ คาดว่าจะมีจำนวนลดลงจากปีก่อนมีมูลค่าราว 130,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การจัดสรรหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก หรือหุ้น IPO ตามหลักเกณฑ์ ก.ล.ต. กำหนดในเรื่องของการจัดสรรให้กับผู้มีอุปการะคุณ และบุคคลที่มีความสัมพันธ์ของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ (related persons-RP) นั้น มองว่าเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากมีการกำหนดสัดส่วนการจัดสรรให้ผู้มีอุปการะคุณไม่เกินร้อยละ 15 ของหุ้น IPO โดยเมื่อรวมกับส่วนที่จัดสรรให้ RP และพนักงานของบริษัท และบริษัทย่อยแล้วไม่เกินร้อยละ 25 ของหุ้น IPO โดยที่ผ่านมา บริษัทฯ ก็มีการต่อรองกับลูกค้า เพื่อให้การจัดสรรหุ้นอยู่ในระดับที่เหมาะสม และเพื่อให้มีการกระจายหุ้น IPO ให้กับผู้ลงทุนทั่วไปอย่างเพียงพอ ไม่กระจุกตัวกับกลุ่มบุคคลใดจนทำให้ควบคุมปริมาณหุ้น IPO ได้ง่าย และนำไปสู่การสร้างราคาหุ้น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับแต่ละดีลว่ามีขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่
“ขณะที่ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นไทย และตลาดหุ้นทั่วโลกในขณะนี้นั้น มองว่า ตลาดหุ้นไทยปีนี้จะมีกำไรบริษัทจดทะเบียนไทย (EPS Growth) จะเติบโตประมาณ 8% ซึ่งเป็นการเติบโตในระดับที่ต่ำ เมื่อเทียบกับปีก่อนที่เติบโตได้ถึง 30% สาเหตุหลักยังคงมาจากการที่ราคาหุ้นไทยไม่ได้ถูกแล้ว และ P/E ก็มีการปรับขึ้นมาสูง ทำให้ยังไม่ได้มีความน่าสนใจในการลงทุนมากนัก ซึ่งการที่จะทำให้เงินทุนไหลเข้านั้น ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทยจะต้องมีการเติบโตในระดับที่สูง และมีโครงการลงทุนที่ดีที่น่าสนใจ ซึ่งที่ผ่านมา ก็ยังไม่เห็นการเติบโตในลักษณะนั้น ทำให้ในระยะสั้นนี้ยังไม่มีสาระสำคัญมากนัก”
ในส่วนของคาดการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยหรือ GDP ในปีนี้ มองว่าน่าจะเติบโตเฉลี่ยที่ 3% โดยยังต้องติดตามการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะส่งผลดีต่อประเทศไทย ส่วนตลาดหุ้นทั่วโลกก็มีการปรับขึ้นไปพอสมควร ส่งผลต่อหุ้นปรับตัวขึ้น จะเห็นได้จากหุ้นสหรัฐฯ ในระยะเวลา 4 เดือน ที่มีการปรับตัวขึ้นไป 30-35% เป็นผลมาจากนโยบายของทรัมป์ ที่เน้นการลงทุนในสหรัฐฯ เป็นหลัก และนโยบายเกี่ยวกับการลดภาษี เป็นต้น ซึ่งถือได้ว่าปัจจัยดังกล่าวเป็นตัวขับเคลื่อนของข่าวดี โดยนักลงทุนยังคงจับตาดูอย่างต่อเนื่องว่า นโยบายต่างๆ ของทรัมป์ จะเกิดเป็นรูปธรรมได้หรือไม่ ซึ่งหากเศรษฐกิจหลักอย่างสหรัฐฯ ฟื้นตัวดีขึ้น ก็น่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวตาม
สำหรับคำแนะนำในการลงทุนนั้น นักลงทุนควรพิจารณากระจายความเสี่ยงของการลงทุนไปยังต่างประเทศทั่วโลก โดยแนะนำหุ้นในสหรัฐฯ ปีหน้าน่าจะมีการฟื้นตัวดีขึ้น จากเชื่อมั่นว่า สหรัฐฯ น่าจะมีการลดภาษีนิติบุคคล และจะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน, สำหรับทวีปยุโรป หากไม่มีการพลิกเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ก็น่าจะมีการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ โดยหุ้นที่คาดว่า จะได้รับอานิสงส์ ได้แก่ หุ้นกลุ่มธนาคาร, หุ้นประกัน มีความน่าสนใจ เนื่องจากมีผลตอบแทนที่ดี ขณะที่ในส่วนของประเทศจีนนั้น คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ไม่น้อยกว่า 6% ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี ในการผลักดันการเติบโตไปได้ หลังอยู่ในช่วงชะลอตัวมาหลายปี ส่วนเศรษฐกิจในประเทศญี่ปุ่นนั้น คาดว่าจะสามารถฟื้นตัวขึ้นจากภาคการส่งออก ขณะที่ประเทศไทย คาดว่าจะเติบโตที่ประมาณ 3% แต่ทั้งนี้ ยังต้องพิจารณาศักยภาพไทยน่าจะเติบโตได้มากกว่านี้
อย่างไรก็ตาม การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 29 มี.ค.นี้ บริษัทฯ คาดว่า กนง.จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม หรือร้อยละ 1.50 เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยที่จะต้องขึ้นในขณะนี้