นายนริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องท่ามกลางความผันผวนจากเศรษฐกิจโลก แต่เป็นการเติบในลักษณะกระจุกตัวในบางกลุ่มเท่านั้น โดยมีการลงทุนภาครัฐ และการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก แต่อย่างไรก็ตาม จากด้านการลงทุนภาคเอกชนที่อาจจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ธนาคารปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยลงเหลือ 3.3% จากเดิม 3.5% และการลงทุนภาคเอกชนเหลือ 1.7% จาก 2.2%
“ปัจจัยในประเทศนั้น ในส่วนที่เรามองว่าแนวโน้มดีกว่าคาดก็คือ การบริโภคภาคเอกที่คาดการณ์ไว้โต 3% เป็นผลมาจากภาระรถยนต์คันแรกที่หมดไป และราคาสินค้าเกษตรที่ดีขึ้น ส่วนที่เรามองว่า อาจจะต่ำกว่าคาดก็คือ การลงทุนภาคเอกชน ส่วนการส่งออกคิดเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าเติบโต 2% ก็ถือว่าดีขึ้นกว่าเดิมที่โตได้ 0.5% แต่ก็ยังไม่ดีพอที่จะเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เนื่องจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ดังนั้น เรายังไม่สามารถทำให้การลงทุนภาคเอกชนที่มีสัดส่วนถึง 20% ในจีดีพีโตขึ้นได้ ก็จะทำให้จีดีพีเติบโตยั่งยืนไม่ได้ ซึ่งกลุ่มเอสเอ็มอี ก็ถือว่ามีสัดส่วนในกลุ่มการลงทุนภาคเอกชนค่อนข้างสูง”
ขณะที่เศรษฐกิจโลกนั้น ถือเป็นปีที่มีความผันผวน ทั้งในส่วนความเสี่ยงด้านการเมืองของสหรัฐฯ ที่นโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ อาจจะไม่สามารถทำได้ตามที่หาเสียงไว้ ซึ่งเห็นภาพชัดเจนในช่วงกลางปี และการเลือกตั้งในยุโรป และด้านตลาดการเงินโลกที่ต้องเตรียมรับแรงกดดันจากการไหลกลับของเงินทุน สภาพคล่องดอลลาร์สหรัฐฯ ตึงตัว บอนยีลด์ปรับสูงขึ้น ถือเป็นการหมดยุคดอกเบี้ยต่ำ หลังจากเฟด ส่งสัญญาณปรับดอกเบี้ยชัดเจน โดยคาดว่าจะปรับขึ้น 3 ครั้งในปีนี้ ซึ่งจะทำให้อยู่ในระดับ 1.50% เท่ากับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ก็จะทำให้มีเงินทุนบางส่วนไหลออกไป
“หากดอกเบี้ยสหรัฐฯ ก็อยู่ในระดับเดียวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ก็ต้องมาถามว่า แล้วเราจะอยู่ได้มั้ย ก็ประเมินว่า อยู่ได้ในระยะสั้นๆ แต่ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะมีเงินไหลออกในระดับหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลให้แนวโน้มเงินบาทอ่อนค่าจากปัจจุบันที่แข็งค่าสวนทางกับประเทศส่วนใหญ่ภูมิภาค โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 36 บาท จากปัจจุบันที่ประมาณ 34.5 แต่จะมีความผันผวนในระหว่างทางค่อนข้างมาก ซึ่งเรามองว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 2.00% ในปีหน้า”
ทั้งนี้ เนื่องจากกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ถือว่ามีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความเปราะบางอยู่ ศูนย์วิเคราะห์ฯ ได้ทำการศึกษาธุรกิจเอสเอ็มอี ผ่านการวิเคราะห์เชิงลึกจาก Big Data สามารถแบ่งธุรกิจเอสเอ็มอี ออกเป็น 3 กลุ่ม จากแนวโน้มการเติบโตของรายได้ และอัตราส่วนกำไรสุทธิ ได้แก่ 1) กลุ่ม Potential ที่มีศักยภาพในการเติบโตเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับการค้าชายแดน ธุรกิจการท่องเที่ยว 2) กลุ่ม Matured ที่มีผลการดำเนินงานดีต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน หรือการเป็น Hub ของอุตสาหกรรม หรือลอจิสติกส์ หรือเป็นธุรกิจที่ได้ร้บประโยชน์จากนโยบายรัฐบาล ซึ่งจะยกระดับไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้ และ 3) กลุ่ม Challenged ที่กำลังเผชิญกับกับดักการเติบโต ได้แก่ ธุรกิจทางการเกษตร