เมื่อวันพฤหัสบดีที่23 มีนาคมที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ส่งหนังสือถึงฝ่ายบริหารบริษัท อุตสาหกรรม อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น “อีไอซี” ขอให้ชี้แจงความสมเหตุสมผลการซื้อบริษัท ส.ธนา มีเดีย จำกัด และวัตถุประสงค์การใช้เงินเพิ่มทุน
ใครที่ได้อ่านรายละเอียดหนังสือที่ตลาดหลักทรัพย์ส่งถึงฝ่ายบริหารหุ้น “อีไอซี” จะรับรู้ได้ทันทีว่า ตลาดหลักทรัพย์กำลังจี้ไปที่ “จุดตาย”ของหุ้นตัวนี้
“อีไอซี”เป็นหุ้นร้อน เพิ่มทุนในอัตราถี่ โดยก่อนหน้านายบี เตชะอุบล เคยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ อันดับหนึ่ง แต่ขายหุ้นออกไปแล้ว และ มีผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มใหม่ที่ไม่เปิดเผยตัวตนที่ชัดเจนเข้ามาคุมเกมการบริหารแทน
การเพิ่มทุนและซื้อทรัพย์สินครั้งล่าสุด ซึ่งมีเหตุให้ชวนสงสัย จนตลาดหลักทรัพย์ต้องร่อนสารขอคำชี้แจงการจัดทำรายการจากฝ่ายบริหารบริษัทนั้น เป็นแผนงานที่ผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มใหม่กำหนดเมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการ “อีไอซี” ไดจัดประชุม โดยมีมติเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก1,076,852,457 บาท เป็น 7,705,659,742 บาท โดยออกหุ้นใหม่จำนวน 6,628,807,285 หุ้น ราคาพาร์ 1 บาทและจัดสรรหุ้นจำนวน 2,801,855,464 หุ้น เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 1 หุ่นเดิมต่อ 4 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 22 สตางค์ พร้อมแจกใบสำคัญแสดงสิทธิจองซื้อหุ้นสามัญ (วอร์แร้นท์) ในสัดส่วน 3 หุ้นใหม่ต่อ 1วอร์แร้นท์ อายุ 1 ปี ราคาแปลงสภาพเป็นหุ่นสามัญ 30 สตางค์
ส่วนหุ้นอีกจำนวน 2,500 ล้านหุ้น จัดสรรขายบุคคลในวงจำกัดไม่เกิน 50 ราย โดยมอบหมายให้คณะกรรมการมีอำนาจในการจัดสรรในคราวเดียวหรือเป็นครั้งคราว
นอกจากนั้นยังมีมติซื้อหุ้นบริษัท ส.ธนามีเดีย จำกัดจำนวน 49,998 หุ้น หรือ 100%ของทุนจดทะเบียน ในราคาเฉลี่ยหุ้นละ 7,440.30 บาท จากราคาพาร์ 100 บาท ใช้เงินทั้งสิ้น 372 ล้านบาท
การที่ตลาดหลักทรัพย์ “ติดใจ”การซื้อบริษัท ส.ธนามีเดีย เพราะมูลค่าตามบัญชีบริษัท ส.ธนามีเดีย เมื่อสิ้นปี 2558 มีจำนวนเพียง 19 ล้านบาทเท่านั้น และการใช้เงิน 372 ล้านบาทซื้อนั้น คิดเป็นสัดส่วน 96%ของสินทรัพย์รวมของ “อีไอซี”
ส่วนวัตถุประสงค์การเพิ่มทุนที่ตลาดหลักทรัพย์ต้องการความกระจ่าง เนื่องจากระยะ 3 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติเงินลงทุนในธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักและให้กู้ยืมแก่บริษัทที่ลงทุน แต่ต่อมาไม่นาน บริษัทรับรู้ส่วนแบ่งผลขาดทุน ตั้งด้อยค่าเงินลงทุน และตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญทั้งจำนวนรวมทั้งขายเงินลงทุนในราคาต่ำกว่าเงินที่บริษัทลงทุน ส่งผลให้บริษัทขาดทุนจากเงินลงทุนกว่า 300 ล้านบาท และทำให้บริษัทขาดทุนสุทธิจากการดำเนินงานปี 2558 จำนวน 196 ล้านบาท ขาดทุนในปี 2559 จำนวน135 ล้านบาท
และการเพิ่มทุนครั้งใหม่ มีนัยสำคัญสูงถึง 6 เท่าของทุนเดิม แต่ยังไม่แจ้งวัตถุประสงค์การใช้เงินเพิ่มทุนที่ชัดเจน ตลาดหลักทรัพย์จึงขอให้ชี้แจงภายในวันที่ 27 มีนาคมนี้ เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน
การสั่งให้“อีไอซี”แจกแจงการทำธุรกรรมเป็นกรณีพิเศษนั้น สะท้อนให้เห็นว่า ตลาดหลักทรัพย์กำลังเพ่งเล็งการบริหารงานของบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ และกำลังเข้ามาจับตาอย่างใกล้ชิด
“อีไอซี” มีพฤติกรรมเหมือนหุ้นขนาดเล็กอีกนับสิบตัว โดยเป็นหุ้นที่มีผู้ถือหุ้นรายย่อยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และมักประกาศเพิ่มทุนบ่อยครั้ง บางบริษัทเพิ่มทุนกว่า 10 ครั้งในรอบ 3 ปี
ระดมเงินจากผู้ถือหุ้นรายย่อยเข้ามาแล้ว จะนำไปซื้อทรัพย์สินในราคาที่แพงเกินจริง ซื้อกันเป็นว่าเล่น ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระที่ตั้งขึ้นมาประเมินราคาทรัพย์สิน แม้จะโต้แย้งการซื้อทรัพย์สินในราคาเกินจริง แต่ฝ่ายบริหารบริษัทฯก็ดังทุรังซื้อทรัพย์สินผลที่ตามมาคือ บริษัทมีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง ผู้ถือหุ้นรายย่อยเสียหาย เงินที่ถมกันเข้าไป ถูกนำไปผลาญ ฝ่ายบริหารบริษัทฯไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ
การเพิ่มทุน ซื้อทรัพย์สิน ปล่อยเงินกู้ให้บริษัทย่อย โดยบริษัทมีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง ทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยนับหมื่นนับแสนคนเสียหาย กลายเป็นวงจรอุบาทว์ และเป็นช่องทางใหม่ในการปล้นเงินจากตลาดหุ้น โดยไม่ต้องกลัวก.ล.ต.หรือตลาดหลักทรัพย์เล่นงาน
และการซื้อทรัพย์สิน ถูกใช้เป็นช่องโหว่ในการไซฟ่อนเงิน โดยข้อตกลงซื้อทรัพย์สินอย่างเป็นทางการ จะถูกตั้งราคาไว้สูงลิ่ว แต่จะมีข้อตกลง “ลับ”ในเรื่องเงินทอนกันภายหลัง
และช่องทางใหม่ในการปล้นเงินจากตลาดหุ้น โดยกลุ่มมิจฉาชีพยังลอยนวลอยู่ก็ดำเนินมาหลายปีแล้ว
การที่ตลาดหลักทรัพย์เข้ามา “จับตาย”หุ้นไออีซี เป็นนิมิตที่ดีมาก เป็นการส่งสัญญาณให้รู้ว่า ตลาดหลักทรัพย์เห็นถึงอันตรายถึงขบวนการสร้างวงจรอุบาทว์ในตลาดหุ้นแล้ว
และไม่อยากให้ “อีไอซี” ย่ำเข้าไปในวงจรอุบาทว์อีก
ไม่อยากเห็นผู้ถือหุ้นรายย่อย “ไออีซี”ต้องน้ำตาตกซ้ำรอย เพราะจ่ายเงินเพิ่มทุนเสร็จ ฝ่ายบริหารบริษัทนำไปซื้อทรัพย์สินราคาแพงลิบลิ่ว สุดท้ายบริษัทขาดทุน และเรียกร้องความรับผิดชอบจากใครไม่ได้
ตลาดหลักทรัพย์รู้ทันขบวนการสร้างวงจรอุบาทว์ในตลาดหุ้นแล้ว แต่จะทำลายวงจรอุบาทว์ได้หรือไม่เท่านั้น