xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนรอดหวุดหวิดหุ้น ”จีแอล”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


     มรสุมที่กระหน่ำใส่หุ้นบริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด(มหาชน)หรือ “จีแอล” แม้สงบลงแล้ว แต่ความเสียหายที่ก่อไว้ ต้องใช้เวลาอีกยาวนานในการฟื้นฟู โดยแมลงเม่าที่แทบหมดเนื้อหมดตัวจากหุ้นตัวนี้
         ราคาหุ้นจีแอลกลับสู่ความเคลื่อนไหวที่ปกติขึ้น ไม่วูบหวาหวือหวา เดี๋ยวรูดติดฟลอร์ เดี๋ยวไล่ซื้อจนพุ่งขึ้นชนเพดานเหมือนเมื่อสัปดาห์ก่อน
         บทบู๊ล้างผลาญของหุ้นตัวนี้ปิดฉากลง หลังจากที่ราคาหล่นมาอยู่ในระดับก้นเหว ย่ำฐานแถว 18 บาท จากไม่กี่สัปดาห์ก่อน รักษาฐานอยู่เหนือระดับ 60 บาท
         หมายเหตุของผู้สอบบัญชีที่ตั้งปมสงสัยการปล่อยกู้จำนวนกว่า 3 พันล้านบาท ให้ลูกค้า 2 กลุ่มคือ กลุ่มไซปรัสและกลุ่มสิงคโปร์ จุดชนวนความตื่นตระหนกของนักลงทุน จนเกิดการเทขายในลักษณะหนีตาย ทำให้หุ้นจีแอลถูกถล่มจนไม่ได้ผุดได้เกิด
         นักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่หนีไม่ทัน ทำให้พอร์ตพังพินาศ เพราะขาดทุนหุ้นจีแอลเพียงตัวเดียว
แต่ปรากฏว่า กองทุนรวมหุ้นหลายแห่งกลับหนีตายทัน เพราะเทขายหุ้นจีแอลออกไปก่อนเกิดวิกฤตเพียงไม่กี่วัน

         กองทุนรวมหุ้นที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กหลายกองทุน มีหุ้นจีแอลอยู่ในพอร์ต แต่ทิ้งหุ้นออกไปก่อน จึงไม่เจ็บเนื้อเจ็บตัว แถมมีกำไรติดไม้ติดมือเสียด้วย
       ทำไมกองทุนฯจึงชิงขายก่อน มีข้อมูลอินไซด์อะไรหรือไม่
         หุ้นจีแอลไม่ได้ดิ่งลงเหวในทันทีที่ผู้ตรวจสอบบัญชีมีหมายเหตุในรายการปล่อยกู้ให้ลูกค้ากลุ่มไซปรัสและกลุ่มสิงคโปร์ เพราะหลังมีการเผยแพร่ข้อมูลรายงานผู้ตรวจสอบบัญชี ราคาหุ้นไม่ได้เกิดความผันผวนมากนัก
        ตอนนั้นใครจะออกก็ออกทัน แต่นักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่ไม่ยอมออก
        ขณะทีผู้จัดการกองทุนฯบางแห่งที่มีหุ้นจีแอลในพอร์ต ตื่นตัวกับสัญญาณเตือนภัยในทันที รวมถึงเร่งตรวจสอบข้อมูลการปล่อยกู้ของ “จีแอล” และสอบถามขอคำชี้แจงจากฝ่ายบริหารบริษัทฯ ซึ่งหลังจากไม่ได้รับคำชี้แจงที่ชัดเจน ปฏโิบัติการเททิ้งหุ้นจีแอลจึงเปิดฉากขึ้น
        ผู้จัดการกองทุนฯตัดสินใจลดความเสี่ยง แรงขายหุ้นจีแอลจากกองทุนฯจึงทะลักออกมาในตลาด และเป็นจุดเริ่มต้นการปักหัวลงของราคาหุ้นจีแอล
         นักลงทุนรายย่อยที่ไม่ยอมขายหุ้นจีแอล อาจเป็นเพราะความลังเลใจ ยอมแบกรับการขาดทุนไม่ได้ แม้ช่วงแรกจะขาดทุนไม่มากก็ตาม หรืออาจไม่ให้ความสำคัญในความเสี่ยง และอาจไม่มีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจ
         เพราะนักลงทุนรายย่อยไม่มีอำนาจต่อรองมากพอที่ จะยกหูสอบถามขอคำชี้แจงจากฝ่ายบริหารบริษัท กรุ๊ปลีสได้ จึงเสียเปรียบการเข้าถึงแหล่งข้อมูลในเขิงลึก

        อย่างไรก็ตาม แนวทางการแก้ปัญหาของผู้จัดการกองทุน จนรอดตายจากหุ้นจีแอล เป็นสิ่งที่นักลงทุนควรศึกษาไว้ เพื่อนำไปเป็นประโยชน์ในการแก้วิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
       การที่ผู้จัดการกองทุนหลายแห่ง ตัดสินใจโยนหุ้นจีแอลทิ้ง ก่อนเกิดวิกฤต เป็นเพราะตระหนักถึงความเสี่ยง
        เมื่อเห็นสัญญาณความเสี่ยง เมื่อเห็นปัจจัยลบที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาหุ้น ไม่ว่าจะกระทบระยะสั้นหรือระยะยาว ไม่ว่าจะกระทบมากหรือกระทบน้อย เพียงแค่เชื่อว่าจะกระทบแน่ ผู้จัดการกองทุนก็ตัดสินใจเทหุ้นจีแอลขายในทันที
         ไม่ต้องกลัวความผิดพลาด ไม่ต้องกลัวการเสียโอกาส ไม่กลัวที่จะต้องขาย ”ของถูก” เพราะสถานการณ์เฉพาะหน้าขณะนั้น ต้องลดความเสี่ยงไว้ก่อน ไม่ต้องรอจนเกิดวิกฤตจึงขาย
         และการตัดสินใจของผู้จัดการองทุนฯถูพิสูจน์แล้วว่า เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง ช่วยให้ผู้ถือหน่วยลงทุนรอดพ้นจากความเสียหาย
         ส่วนนักลงทุนรายย่อย ขาดทุนเละ และเสียงโอดครวญจากอาการบาดเจ็บหุ้นจีแอลเพียงตัวเดียวก็ยังดังระงมอยู่ทั่วตลาดหุ้น
        
กำลังโหลดความคิดเห็น