xs
xsm
sm
md
lg

บาทแข็งค่าสุดในรอบ 5 เดือน นายแบงก์คาดทางการอาจเข้ามาแทรกแซงเป็นระยะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ธ.กรุงศรีอยุธยา คาดเงินบาทแข็งค่า 34.55-34.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังบาทแข็งค่าสุดในรอบ 5 เดือน ท่ามกลางแรงขายเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ พร้อมคาดว่า ทางการอาจเข้าดูแลตลาดเป็นระยะเพื่อลดความผันผวนจากการดิ่งลงอย่างรวดเร็วของดอลลาร์สหรัฐเทียบกับเงินบาท

ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มแข็งค่า และเคลื่อนไหวในกรอบ 34.55-34.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับระดับปิดที่ 34.86 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในสัปดาห์ที่แล้ว โดยเริ่มต้นสัปดาห์เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 5 เดือน ท่ามกลางแรงเทขายทำกำไรดอลลาร์สหรัฐ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยตามคาด และกระแสเงินทุนไร้ทิศทางชัดเจน โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยรวม 4,000 ล้านบาท แต่ซื้อสุทธิในตลาดพันธบัตรไทย 3,700 ล้านบาท

สำหรับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ หลังเฟด ปรับขึ้นดอกเบี้ย ร้อยละ 0.25 สู่ระดับ 0.75-1 และคงประมาณการว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ ส่วนผลการประชุมผู้นำด้านการเงินของกลุ่ม G-20 เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังไม่มีน้ำหนักพอที่จะชี้นำตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในระยะนี้

ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า นักลงทุนจะให้ความสนใจกับสุนทรพจน์ของนางเจเนต เยลเลน ประธานเฟด ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 23 มีนาคม 2560 หลังจากถ้อยแถลงของนางเยลเลน ในสัปดาห์ก่อน สะท้อนความระมัดระวังอย่างมากในการสื่อสารกับตลาด ซึ่งถือว่าเป็นกลยุทธ์ของเฟด ที่ไม่ต้องการสร้างความตื่นตระหนก อีกทั้งเพื่อลดแรงกดดันด้านขาขึ้นของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะการเงินตึงตัว ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ

นอกจากนี้ ยังคาดว่าทางการอาจเข้าดูแลตลาดเป็นระยะเพื่อลดความผันผวนจากการดิ่งลงอย่างรวดเร็วของดอลลาร์สหรัฐเทียบกับเงินบาท กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ มองว่า การอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐน่าจะเป็นการปรับฐานชั่วคราว และบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงยังต้องเผชิญปัจจัยต่างๆ เช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ตลาดน่าจะผันผวนมากขึ้นท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความเป็นเอกภาพของยุโรป และเสถียรภาพของเงินยูโร
กำลังโหลดความคิดเห็น