xs
xsm
sm
md
lg

ภาษีหุ้นชินกับ “อภินิหารกฎหมาย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ความพยายามในการเก็บภาษีการขายหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SHIN (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท อินทัช จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH) ให้แก่กองทุนเเทมาเส็ก ประเทศสิงคโปร์ ตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค.2549 และกรมสรรพากร (ในยุคนั้น) ประเมินว่าต้องเสียภาษีพร้อมเบี้ยปรับรวมเป็นเงิน 11,300 ล้านบาท (ตัวเลขตั้งแต่ประมาณกลางปี 2550)

การต่อสู้คดียืดเยื้อมากว่า 10 ปี ประเด็นที่ถูกหยิบขึ้นมาใช้ในการต่อสู้ เปลี่ยนแปลงไปตามความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแต่ละช่วงเวลา จนกระทั่งรัฐประหารเมื่อปี 2557 ประเด็นการเรียกเก็บ-ไม่เรียกเก็บ ในปัจจุบันต้องแยกเม็ดเงินออกเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรกคือ เม็ดเงินที่เกิดจากการขายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์ ในราคาหุ้นละ 49.25 บาท วงเงิน 69,722.88 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้ไม่ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย แต่ภายหลังถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งยึดทรัพย์บางส่วนกว่า 4 หมื่นล้านบาท

ส่วนที่ 2 ซึ่งเป็นประเด็นปัญหากับกรมสรรพากรในขณะนี้ เกิดจากนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรชาย และบุตรสาวของนายทักษิณ นำหุ้นชินคอร์ปฯ ที่ซื้อมาจากบริษัทแอมเพิลริช จำนวน 329.2 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1 บาท จากนั้นนำมาขายต่อให้เทมาเส็ก ในราคาหุ้นละ 49.25 บาท เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2549

ส่วนต่างที่เกิดจาก “ราคาซื้อ-ราคาขาย” นี้เอง ที่ต้องเสียภาษี เนื่องจากเป็นรายได้พึงประเมิน และเป็นการได้มา “นอกตลาดหลักทรัพย์”

การพลิกเกมแก้ปมครั้งนี้มี “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำทีม เปิดตำรากฎหมายยกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 820 และ 821 ว่าด้วยเรื่องตัวแทน และคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางมาเทียบเคียง ทำให้การเก็บภาษีหุ้นชินยังดำเนินการต่อไปได้

ประเด็นทางกฎหมายที่ฝ่ายรัฐบาลยกขึ้นมา คือ แม้ในอดีตกรมสรรพากรจะไม่สามารถเรียก “ทักษิณ ชินวัตร” มาไต่สวนเรื่องภาษีได้ แต่เมื่อมีการทำหนังสือไปถึงบุตรชาย และบุตรสาว (นายพานทองแท้ ชินวัตร และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร) ก็จะเสมือนหนึ่งทำถึงเจ้าตัวแล้ว เนื่องจากบุตรถือเป็นตัวแทนของผู้เป็นบิดานั่นเอง ทุกอย่างจึงเหมือนจะสามารถเดินหน้าเดินต่อไป

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ระบุว่า การดำเนินงานทุกอย่างยึดตามกรอบของกฎหมาย แม้ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ แต่ยืนยันว่าจะทันกำหนดสิ้นอายุความใน 31 มี.ค.นี้แน่นอน

      “ส่วนตัวยืนยันว่าทำงานในฐานะข้าราชการ ทุกอย่างทำตามระเบียบกฎหมายของประเทศ เพื่อประโยชน์ของประเทศ” นายประสงค์ กล่าว

สอดคล้องต่อคำสัมภาษณ์ของ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า กรมสรรพากรอยู่ระหว่างประเมินภาษีขายหุ้นชินคอร์ปเสร็จก่อนหมดอายุความในวันที่ 31 มี.ค.

     “การประเมินภาษีของนายทักษิณ จะต้องดำเนินการด้วยความถูกต้อง จะทำให้อายุความ 10 ปียุติลง และกระบวนการเรียกเก็บภาษีจะเริ่มนับหนึ่งใหม่ไปอีก 10 ปี ส่วนการส่งหนังสือให้นายทักษิณ รับทราบเพื่อเสียภาษีนั้นไม่ขอบอกว่าจะส่งไปที่ไหน” นายวิษณุ กล่าว

สำหรับตัวเลขการประเมินภาษีเบื้องต้นตามที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แจ้งไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี ล่าสุด อยู่ที่ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ หากตระกูลชินวัตรไม่ยอมจ่ายภาษี ก็ยังมีโอกาสยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการประเมินภาษีได้ภายใน 30 วัน

       “การดำเนินการเรื่องนี้รัฐบาลใช้กฎหมายปกติทำตามกระบวนการที่มีอยู่ และดำเนินการด้วยความรอบคอบ ส่วนกรณีที่มีตั้งข้อสังเกตว่า นายทักษิณ ถูกยึดทรัพย์ไปแล้ว 4.6 หมื่นล้านบาท จึงไม่ควรจะเสียภาษีอื่นอีกนั้น ขออธิบายว่า เป็นคนละส่วนกัน เพราะการยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาท เป็นผลมาจากคดีอาญาที่ชี้ว่าทุจริต ขณะที่การเสียภาษีเงินได้ถือเป็นอีกเรื่อง เพราะภาษีที่จะเรียกเก็บคือ ส่วนต่างราคาหุ้นที่รับมา 1 บาท แต่ไปขาย 49 บาทในตลาดหลักทรัพย์” นายวิษณุ กล่าว

ณ ขณะนี้กรมสรรพากรมีฐานตัวเลขอยู่แล้วก่อนส่งคำประเมินดังกล่าวไปยังนายทักษิณ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จากนั้นจะถือว่าอายุความที่จะครบ 10 ปีหยุดลงทันที แล้วเริ่มนับหนึ่งใหม่ไปอีก 10 ปี ซึ่งเป็นกระบวนการปกติในคดีทางแพ่ง โดยนายทักษิณ มีสิทธิอุทธรณ์คำประเมินภาษีนั้นได้ภายใน 30 วัน ยืนยันกรมสรรพากรพร้อมดำเนินการ
     
ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลัง ตั้งคณะกรรมการสอบเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรที่ไม่ดำเนินการเรียกภาษี รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบมาตั้งแต่เดือน ธ.ค.59 แล้ว ทั้งนี้ การสอบสวนต้องใช้เวลา เพราะต้องรอฟังข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ปี 50-55 ประกอบด้วย

ด้าน นายนพดล ปัทมะ มาชี้แจงอีกมุมของกฎหมายขายหุ้นชินคอร์ปฯ ไม่ใช่เรื่องอายุความ แต่อยู่ที่การขายหุ้นทำผ่านตลาดหลักทรัพย์ ได้รับยกเว้นภาษีตามประมวลรัษฎากร พร้อมตั้งข้อสัเกตเบื้องต้น ดังนี้

       1.เคยมีคำพิพากษาซึ่งสรุปความตอนหนึ่งได้ว่า หุ้นในชินคอร์ปจำนวนดังกล่าวที่รวมขายให้กลุ่มเทมาเส็กในปี 2549 นั้น นายทักษิณ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ บุคคลอื่นๆ เป็นเพียงผู้ถือหุ้นแทน ไม่ใช่เจ้าของหุ้น

       2.การขายหุ้นดังกล่าวให้กลุ่มเทมาเส็กได้ขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไม่ได้ขายนอกตลาด

       3.ตามกฎหมายไทย เงินได้จากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้นได้รับยกเว้นภาษีตามกฎกระทรวงฉบับที่ 126 ข้อ 23 ที่ออกตามประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งกฎกระทรวงดังกล่าวนี้ใช้มานานแล้ว และใช้บังคับเป็นการทั่วไปกับทุกคน ไม่มีข้อยกเว้น ดังนั้น การขายหุ้นชินคอร์ปผ่านตลาดหลักทรัพย์ก็อยู่ภายใต้กฎกระทรวงฉบับเดียวกันนี้ ตราบใดที่ไม่มีการแก้ไข

      และ 4.นอกจากเงินได้จากการขายหุ้นในตลาดจะได้รับยกเว้นภาษีแล้ว เงินได้จากการขายหุ้นชินคอร์ป และเงินปันผลจากหุ้นประมาณ 46,000 ล้านบาทถูกยึดตกเป็นของแผ่นดินไปตั้งแต่ 8 ปีที่แล้ว

เอ้า!...รอดูกันต่อไปว่า เกมนี้ฝ่ายใดจะพลิกกฎหมาย สร้าง “อภิมหาอภินิหาร” เข้าข้างฝ่ายตัวเองได้มากกว่ากัน
กำลังโหลดความคิดเห็น