GBS มอง SET ปรับลงรับคาดการณ์เฟดขึ้น ดบ.แล้ว ลุ้นทำ Window Dressing ปลาย มี.ค.นี้ พร้อมให้กรอบ 1,520-1,560
นายชัยยศ จิวางกูร ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.โกลเบล็ก (GBS) กล่าวว่า ดัชนีหุ้นไทยได้ปรับตัวลงรับข่าวคาดการณ์การประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 14-15 มีนาคมนี้ จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% เป็น 0.75-1% และส่งผลให้ Fund Flow ต่างชาติเป็น Net Sell ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม ราว 1 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ดัชนีได้ย่อตัวลงมาสู่ระดับ Valuation ที่น่าสนใจ รวมถึงคาดว่าจะมีการทำ Window Dressing ไตรมาส 1/60 ในช่วงปลายเดือนมีนาคม โดยคาดว่าดัชนีจะแกว่งตัวในกรอบ 1,520-1,560 จุด
กลยุทธ์การลงทุน ให้ซื้อเก็งกำไร แบบ Selective Buy ในกลุ่มเดินเรือ รับอานิสงส์จากดัชนีค่าระวางเรือมีแนวโน้มเชิงบวกหลังดีดตัวทำไฮในรอบ 2 เดือน รวมถึงกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันปรับตัวลง เช่น กลุ่มสายการบิน และ EPG รวมทั้งกลุ่มส่งออก ทั้งกลุ่มอาหาร อิเล็กทรอนิกส์ ที่ได้รับอานิสงส์จากเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า
ด้าน นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ ของบล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยได้รับปัจจัยบวกจากการที่ดัชนีปรับตัวลงจนมี P/E อยู่ที่ระดับ 17 เท่า P/BV 1.9 เท่าซึ่งต่ำกว่าระดับ 18.6 เท่า และ 2 เท่าตามลำดับ ในปีที่ผ่านมา ซึ่งมี Valuation น่าสนใจ และการทำ Window Dressing ปิดงวดไตรมาสแรกในช่วงปลายเดือนมีนาคม ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาต่อเนื่องโดยคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เตรียมนำเสนอความคืบหน้าแผนปฏิบัติการ EEC แต่ละโครงการต่อที่ประชุมคณะกรรมนโยบายฯ ในวันที่ 5 เมษายนนี้
อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยกดดันจากการที่ CME Group ระบุว่า มีโอกาสสูงถึง 93% ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 14-15 มีนาคมนี้ ประกอบกับ Fund Flow ต่างชาติเป็น Net Sell ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม มูลค่ารวม 1 หมื่นล้านบาท รวมถึงเงินบาทอ่อนค่าลง และการที่สภาขุนนางของอังกฤษลงมติรับรองร่างกฎหมาย Brexit เป็นการเปิดทางให้นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ใช้มาตรการ 50 เริ่มกระบวนการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป
ขณะที่ยังคงมีปัจจัยที่ต้องจับตา ได้แก่ วันที่ 15 มีนาคม กำหนดประชุมเฟดวันสุดท้าย และมีการแถลงเกี่ยวกับมติอัตราดอกเบี้ยในเช้าวันถัดไป วันที่ 16 มีนาคม กำหนดประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) และในวันที่ 17 มีนาคม สหรัฐมีกำหนดเปิดเผยการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมีนาคม
สำหรับแนวทางการลงทุนในทองคำ นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ นักวิเคราะห์การลงทุน บล.โกลเบล็ก เปิดเผยว่า รูปแบบความเสี่ยงในเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเหมือนเดิม นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดภาษีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ มีความเห็นแย้งเรื่องความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับการใช้จ่ายภาครัฐโดยตรง ส่วนการเพิ่มงบกลาโหมนั้น อาจผิดกฎหมาย หากมีการลดงบประมาณในส่วนอื่นทดแทน
ดังนั้น การใช้เงินมือเติบของรัฐบาลทรัมป์ จึงเป็นความเสี่ยงหลักที่เพิ่มความไม่ลงรอยกันระหว่างสมาชิกพรรครีพับลิกันในช่วงที่เพดานหนี้กำลังจะต้องถูกขยายออกอีกครั้ง หลังจากยืดเวลามาตั้งแต่ปีก่อน เพื่อให้พ้นช่วงเวลาของการเลือกตั้ง และได้ประธานาธิบดีคนใหม่มารับตำแหน่งเสียก่อน ส่วนเรื่องที่เฟด จะขึ้นดอกเบี้ยนั้น คงเป็นไปตามคาด และตลาดได้รับรู้ไปแล้ว
ทั้งนี้ บนความเสี่ยงทางการเมืองของภูมิภาคยุโรป การเลือกตั้งของเนเธอร์แลนด์ดูเป็นเรื่องเล็ก เมื่อเทียบกับ Brexit ที่รอประกาศมาตรการที่ชัดเจนเท่านั้น เพราะ Brexit อาจนำไปสู่ Scotlexit, Italexit และ Grexit โดยสก๊อตแลนด์อยากอยู่กับสหภาพยุโรป (EU) จึงต้องตีจากอังกฤษ ส่วนอิตาลี และกรีซ อยากหนีเจ้าหนี้ Troika จึงต้องการสกุลเงินตัวเองกลับมา
นอกจากนี้ หากดูกันสั้นๆ ในสัปดาห์นี้ ผลกระทบจากเรื่องทั้งหมดจะมุ่งตรงไปที่ดอลลาร์สหรัฐ การหมุนของเงินทุนโลกจะเลือกลงทุนอีกครั้งหลังจากปรับพอร์ตมาถือเงินสดในช่วงที่ผ่านมา ทิศทางสินทรัพย์เสี่ยงให้ดูว่าตลาดหุ้นนิวยอร์ก ยังทำ historical high ได้ต่อเนื่องอีกหรือไม่
ส่วนราคาทองคำที่หลุด 1,215 ดอลลาร์สหรัฐ ลงมาในสัปดาห์ก่อน ทำให้การยืนบน 1,200 ดอลลาร์สหรัฐ อาจไม่พอสำหรับการคงรูปขาขึ้นเดิม แต่ยังมีลุ้นให้เล่นขา rebound เพราะราคาดิ่งลงมารับข่าวไปแล้ว จึงอาจมีแรงซื้อ buy on dip ดันให้กลับขึ้นไป จึงคาดหวังการปรับขึ้นในระดับหนึ่ง มากกว่าจะขึ้นไปแตะถึงจุดสูงสุดเดิมที่ 1,265 ดอลลาร์สหรัฐ จึงแนะนำให้ซื้อเก็งกำไร โดยดูการหลุด 1,200 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นสัญญาณเตือนให้ cut loss ส่วนการหลุด 1,190 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นสัญญาณว่า ไม่ควรมี long อยู่ในพอร์ต