xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ง่าย! คนอยู่ห้องชุดอยากขายทิ้ง หากติดค้างหนี้ส่วนกลาง-เงินค่ากองทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


IRM เตือนผู้ซื้ออาคารชุดต้องศึกษาเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนกลาง และเงินค่ากองทุน เผยต้องรู้ว่า หลังจากจดทะเบียนนิติบุคคลแล้ว ห้องที่ยังขายไม่ได้จะต้องชำระค่าใช้จ่าย แนะทางออกสำหรับผู้ประกอบการ และผู้ซื้อเพื่อไม่ให้เสียสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากธนาคาร

นายธนันทร์เอก หวานฉ่ำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์ เรียลตี้แมเนจเม้นท์ จำกัด (IRM) และอดีตนายกสมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมได้รับความนิยมเป็นอย่างมากสำหรับคนกรุงเทพฯ เนื่องจากการตอบรับไลฟ์สไตล์ได้อย่างลงตัว ทำให้เกิดอาคารใหม่ๆ โดยเฉพาะแนวรถไฟฟ้าจำนวนมาก และคอนโดฯ เกิดใหม่เหล่านี้มีทั้งที่ขายได้หมดแล้ว และขายได้เพียงบางส่วน เช่น ขายได้เพียง 20% และอีก 80% เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ประกอบการ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องการจัดเก็บค่าใช้จ่ายที่อาจทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบหากไม่ทราบว่า ต้องรู้อะไรบ้างเมื่อตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียม โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่นำมาใช้ในการบริการจัดการภายในอาคาร

สำหรับค่าใช้จ่ายส่วนแรกที่ผู้ซื้อคอนโดมิเนียมจะต้องเตรียมก็คือ เงินกองทุน ซึ่งกฎหมายระบุว่า เงินกองทุนมีไว้เพื่อซ่อมแซมส่วนกลาง โดยเฉพาะการบำรุงรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น ซ่อมแซม หรือเปลี่ยนอุปกรณ์ลิฟต์โดยสาร หรือการทาสีใหม่ทั้งอาคาร เงินกองทุนนี้จะเก็บประมาณ 10 เท่าของค่าส่วนกลาง เช่น หากต้องจ่ายค่าส่วนกลางในอัตรา 50 ต่อตารางเมตร ผู้อยู่อาศัยจะต้องจ่ายค่ากองทุน 500 ต่อตารางเมตร ซึ่งต้องจ่ายนอกเหนือจากราคาห้องที่ซื้อ เช่น ซื้อคอนโดฯ ขนาด 40 ตารางเมตร จะต้องจ่ายค่ากองทุน จำนวน 20,000 บาท (40x500) ผู้ซื้อคอนโดฯ จะต้องเตรียมเงินส่วนนี้ไว้ โดยทางผู้ขายจะชี้แจงเรื่องนี้อยู่แล้ว

นอกจากนี้ ยังต้องมีค่าส่วนกลาง ซึ่งเป็นค่าใช้จ่าย และค่าบริการต่างๆ ประจำเดือน เช่น เงินเดือนพนักงาน แม่บ้าน ธุรการ รวมทั้งรายจ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบำรุงรักษาส่วนกลางของอาคาร ปกติแล้ว ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะมีการเก็บล่วงหน้า 1-2 ปี ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละอาคาร สำหรับค่าส่วนกลางนั้น คำนวณจากพื้นที่ห้องแล้วคูณด้วยอัตราค่าจัดเก็บ เช่น พื้นที่ 40 ตารางเมตร ค่าส่วนกลางตารางเมตรละ 50 บาท (40x50x12 = 24,000 บาท)

นายธนันทร์เอก เปิดเผยเพิ่มเติมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับการจัดเก็บค่าส่วนกลางที่ผ่านมาว่า ไม่สามารถเก็บจากห้องที่ยังไม่ได้ขายได้ ซึ่งอาจมีมากถึง 80% ของจำนวนห้องทั้งหมด ซึ่งตามกฎหมายระบุว่า หลังจากที่จดทะเบียนนิติบุคคลแล้ว ห้องที่ยังขายไม่หมดผู้ประกอบการในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์จะต้องรับผิดชอบค่าส่วนกลาง แต่ส่วนใหญ่มักบ่ายเบี่ยง หรือมีการอนุโลมขอจ่ายเป็นรายเดือนได้ 1 ปี หลังจากนั้น จะต้องจ่ายทั้งหมดเข้าบัญชีของนิติบุคคล หรือให้นิติบุคคลคิดเบี้ยปรับการชำระค่าส่วนกลางล่าช้า ส่วนเงินกองทุนนั้น จะจ่ายเมื่อโอนกรรมสิทธิ์ได้แล้ว ซึ่งปัญหานี้ ผู้ซื้อคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่ไม่ทราบข้อมูล ทำให้เสียเปรียบ และเสียโอกาสที่จะได้รับดอกเบี้ยจากธนาคาร เนื่องจากในช่วงแรกผู้ประกอบการมักใช้บริษัทในเครือทำหน้าที่บริหารทรัพย์สินของอาคาร ดังนั้น ผู้บริโภคควรศึกษาข้อมูลเพื่อป้องกันมิให้เสียสิทธิในการอยู่อาศัยในอาคารชุด


กำลังโหลดความคิดเห็น