“คลัง” เซ็นเอ็มโอยู ให้ 7 แบงก์ติดตั้งอุปกรณ์เครื่องรูดบัตรเดบิต 5.6 แสนเครื่องทั่วประเทศ ให้เสร็จสิ้นภายในไตรมาสแรกของปี 61 หวังช่วยลดต้นทุนการชำระเงินของประเทศ รวมถึงเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ในการจ่ายค่าสินค้า และบริการ แบงก์พาณิชย์ยังต้องหาช่องทางขยายการบริการเครื่องรูดบัตรไปตามแหล่งต่างๆ เพื่อรองรับการรูดบัตรรับสวัสดิการของรัฐจากคนจนเป็นอันดับแรก ด้านธนาคารพาณิชย์มั่นใจเสร็จตามกำหนด
กระทรวงการคลังได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างคณะอนุกรรมการคัดเลือก และกำกับดูแลผู้ให้บริการวางอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กกทรอนิกส์ และผู้มีสิทธิให้บริการวางอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 2 ราย ได้แก่ Consortium ซึ่งประกอบไปด้วยธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารทหารไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารธนชาติ และกลุ่มกิจการร่วมค้าโครงการอีเพย์เมนต์ ซึ่งประกอบไปด้วยธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกรมบัญชีกลางร่วมเป็นสักขีพยาน โดยการลงนามครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ National e-Payment ของรัฐบาล
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงโครงการดังกล่าวนี้ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี อีกทั้งการติดตั้งเครื่อง EDC ยังเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ เนื่องจากเครื่องมือนี้เป็นเครื่องมือสำหรับการรับเงินทางอิเล็กทรอทรอนิกส์ ซึ่งเริ่มต้นที่บัตรอิเล็กทรอนิกส์ แต่ในอนาคตธนาคารพาณิชย์ยังต้องดำเนินการให้สามารถรองรับการชำระเงินในรูปแบบที่หลากหลาย เนื่องจากเงินอิเล็กทรอนิกส์ไม่ใช้เงินจากใช้บัตรเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงโทรศัพท์ หรือบิสคอยน์ ซึ่งเป็นรูปแบบของเงินที่ยังมองไม่เห็นในปัจจุบันด้วยก็ได้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวคิดหลักในการพัฒนารูปแบบการชำระเงินของประเทศไปสู่อิเล็กทรอนิกส์นั้น ก็เพื่อจะลดรูปแบบการชำระแบบเงินสดลง ซึ่งจะประหยัดต้นทุนของประเทศ อีกทั้ง ธปท.เคยฝันถึงเรื่องดังกล่าวนี้มาเป็นเวลาหลาย 10 ปีมาแล้ว แต่ยังไม่สามารถผลักดันได้ เนื่องจากจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน โดยในครั้งนี้กระทรวงการคลังได้รับเป็นเจ้าภาพ และให้ ธปท.เป็นผู้ดำเนินการจนทำให้ทุกอย่างเดินมาได้ถึงขนาดนี้
“จากการติดตั้งเครื่อง EDC ทั่วประเทศรวม 560,000 เครื่อง เราตั้งเป้าหมายปีนี้จะติดตั้งเครื่อง ECD ในหน่วยงานราชการก่อนจำนวน 18,000 เครื่อง โดยจะติดตั้งตามจุดสำคัญๆ เช่น กระทรวง ทบวง กรมทุกกรม รวมไปถึงคลังจังหวัด สถานีตำรวจ กรมที่ดิน รวมถึงจุดที่ให้บริการประชาชนก่อนเป็นลำดับต้นๆ เพราะกระทรวงการคลังต้องการให้เกิดการใช้สวัสดิการจากรัฐของคนจนผ่านเครื่อง ECD ก่อนเป็นอันดับแรก” นายอภิศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ โครงการย่อยภายใต้ National e-Payment จะมีทั้งสิ้น 6 โครงการ โดยโครงการที่ 1 และ 2 ธปท. จะเป็นผู้ดูแล และผลักดันในรูปแบบบริการพร้อมเพย์ (Non-Bank) ซึ่งเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ส่วนการชำระเงินในโครงการที่ 2.จะเป็นการชำระเงินแบบ Card Payment โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังได้ระบุว่า ในระยะต่อไปจะสามารถต่อยอดการใช้เครื่องรับบัตรกับบริการอื่นๆ ได้ เช่น โครงการตั๋วร่วม และบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะมีส่วนช่วยยกระดับชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น
“พร้อมเพย์ถือเป็นการโอนเงินที่เป็นเพียงกระพี้เล็กๆ นิดเดียว แต่ที่เราอยากเห็น คือ เงินสามารถชำระจากที่ไหนก็ได้ เช่น ทางโทรศัพท์ บัญชี บัตร และให้คนที่ได้รับเงินสามารถรับในรูปอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ในช่วงต่อไป เราจะเริ่มทำโครงการที่ 3 คือ การรับ-จ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะรวมถึงการจ่ายเงินค่าปรับด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าว
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน คนไทยถือบัตรเดบิต จำนวน 54 ล้านใบ และมีเครื่องรับบัตรกว่า 400,000 เครื่อง แต่หากเทียบกับจำนวนประชากรในประเทศแล้ว จำนวนเครื่องรับบัตรของไทยยังมีน้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่ 4-5 เท่า และกว่า 2 เท่า หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย อีกทั้งการใช้บัตรเดบิตในการรูดซื้อสินค้า และบริการก็ยังมีไม่มากนัก และกระทรวงการคลัง เชื่อว่า โครงการวางอุปกรณ์ชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ครั้งนี้จะเป็นแรงผลักดันสำคัญในการส่งเสริมให้คนไทยหันมาใช้บัตรเดบิตมากขึ้น
นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า หลังการติดตั้งเครื่อง EDC แล้ว รัฐบาลจะกระตุ้นการใช้บัตร และชำระเงินในระบบ e-Payment โดยจัดแคมเปญแจกรางวัลให้ผู้ใช้ และร้านค้ามีสิทธิลุ้นโชคจากการชำระเงินผ่านเครื่องรับบัตร และตู้เอทีเอ็ม เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 เป็นรางวัลมูลค่าเดือนละ 7,000,000 บาท รวมมูลค่ารางวัล 84 ล้านบาท
ด้าน นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ว่า ถือเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานรองรับการชำระเงินโดยการใช้บัตร (Card Payment) ซึ่งมีเป้าหมายกระจายอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) ให้แก่ร้านค้า และหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศรวม 560,000 เครื่องให้เสร็จภายในไตรมาส 1 ของปี 2561 แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องดำเนินการติดตั้งเครื่อง ECD ของส่วนราชการจำนวน 18,000 เครื่อง ให้เสร็จสิ้นภายในเดือน ก.ย.ของปี 2560
นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงการคลัง ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2560 จะเป็นปีแห่งการไม่ใช่เงินสดในการทำธุรกรรมการเงินกับภาครัฐ อีกทั้งธนาคารที่ยังมีจำนวนสมาชิกผู้ถือบัตรเดบิตของธนาคารจำนวนไม่มากก็จะได้ร่วมกันหาลูกค้าได้ เนื่องจากการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์จะมีค่าธรรมเนียมที่ถูกลงเหลือไม่เกิน 0.55% จากค่าธรรมเนียมในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ 1.5-2.5%
ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์จะมีรายได้บางส่วนจากค่าธรรมเนียมการให้บริการผ่านเครื่อง EDC ด้วย อีกทั้ง ยังไม่มีการเก็บค่าเช่า และการติดตั้งอุปกรณ์ แต่อาจเก็บค่ามัดจำเพื่อป้องกันอุปกรณ์เสียหาย ซึ่งทางร้านค้าจะได้รับคืนเมื่อยกเลิกการใช้บริการแล้ว อย่างไรก็ตาม ภาครัฐยังมีมาตรการช่วยเหลือร้านค้าที่ติดตั้งอุปกรณ์สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการรับบัตร (MDR) ไปหักค่าใช้จ่ายภาษีได้ 2 เท่าจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เพื่อเป็นการช่วยลดภาระของร้านค้า
นายสมชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงการคลังไม่ได้จำกัดจำนวนการติดตั้งเครื่อง EDC และหากในอนาคต ธนาคารพาณิชย์ยังต้องขยายแหล่งการใช้บัตรไปตามจุดต่างๆ เช่น รถไฟ หรือเครื่องแตะบัตรสำหรับคนจนได้แล้ว ก็ต้องควรต้องดำเนินการขยายการติดตั้งต่อไปด้วย
**แบงก์มั่นใจติดตั้งเครื่องทันกำหนด**
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทยในฐานะกลุ่ม “กิจการค้าร่วมโครงการอีเพเม้นต์” ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการติดตั้งเครืองรูดบัตร (EDC) จำนวน 550,000 รายแก่ผู้ประกอบการ ซึ่งจากฐานร้านค้ารับบัตรเครดิตเดิมของทั้ง 2 ธนาคารที่มีส่วนแบ่งตลาดถึง 70% จะช่วยให้การดำเนินโครงการวางอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์สำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยใช้เครือข่ายสาขาของธนาคารเข้ามาช่วยในการกระจายไปสู้ร้านค้า
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) กล่าวว่า ทางธนาคารไม่ได้มีการกำหนดเป้าหมายตายตัวของแต่ละแห่ง แต่จะร่วมมือกันทำเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งก็จะมีการดูในรายละเอียดเป็นช่วงๆ ไป ส่วนเรื่องของเพดานค่าธรรมเนียมการรับบัตร (Merchant Discount Rate : MDR) ที่สูงสุดไม่เกิน 0.55% นั้น จะมีการแข่งขันกันหรือไม่นั้น ก็คงต้องรอดูสถานการณ์สักระยะหนึ่งก่อน
ขณะที่ 5 ธนาคารพันธมิตรกลุ่ม TAPS ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารธนชาต ระบุการจับมือของ 5 ธนาคารสมาชิกได้ร่วมกันพัฒนาฟังก์ชันในการใช้งานที่มีรูปแบบใหม่ แตกต่างจากเครื่องรับบัตรแบบเดิม สามารถเพิ่มช่องทางการจัดโปรโมชันระหว่างร้านค้ากับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และเข้าถึงลูกค้าได้เป็นจำนวนมาก อาทิ ฟังก์ชันการผ่อนชำระ และฟังก์ชันการจะสะสมแต้ม ทำให้ร้านค้าไม่จำเป็นต้องมีหลายเครื่องเพื่อรองรับบัตรของแต่ละธนาคารอีกต่อไป
สำหรับเป้าหมายอย่างเป็นทางการที่ทางโครงการวางไว้นั้น แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่หนึ่ง 25% ของกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ใน และนอกเขตตัวเมือง ติดตั้งภายในเดือนเมษายน 2560 ระยะที่สอง 50% ของกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ใน และนอกเขตตัวเมือง ติดตั้งภายในเดือนกรกฎาคม 2560 ระยะที่สาม 100% ของหน่วยงานภาครัฐติดตั้งภายในเดือนกันยายน 2560 และ 75% ของกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ใน และนอกเขตตัวเมือง ติดตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2560 และระยะที่สี่ 100% ของกลุ่มเป้าหมายหมายติดตั้งในเดือนมีนาคม 2561