“วิษณุ” ระดมสมองหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาช่องทางการเก็บภาษีจากการขายหุ้น “ชินคอร์ป” มูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาท โต้กรมสรรพากรที่ออกมาระบุคดีสิ้นสุดแล้วตั้งแต่ปี 55 ย้ำอายุความ 10 ปี ไม่ใช่ 5 ปี พร้อมนำเรื่องเสนอให้รัฐบาลชี้ขาด แต่จะไม่ใช้มาตรา 44 เพื่อขยายอายุความ ด้านเลขาฯ ปปง. “พล.ต.อ.ชัยยะ” แย้มได้ข้อสรุปที่รัฐบาลแฮปปี้ ขณะที่ “ขุนคลัง” จี้กรมสรรพากรต้องชี้แจงให้ได้
แหล่งข่าวจากกรมสรรพากร เปิดเผยถึงการดำเนินการเรียกเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท อินทัช โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ของนายทักษิณ ชินวัตร มูลค่าประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาทว่า กรมสรรพากรคงไม่ดำเนินการใดๆ อีก เพราะเรื่องดังกล่าวกรมสรรพากรได้ดำเนินการมาถึงที่สุดแล้ว และอายุความของคดีได้สิ้นสุดไปตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.2555
ส่วนกรณีที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เสนอให้ใช้อายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่มีอายุความ 10 ปีนั้น ในกรณีเช่นนี้ กรมสรรพากรไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เนื่องจากตามหลักกฎหมายแล้ว เมื่อมีกฎหมายเฉพาะในเรื่องการกำหนดอายุความ จะต้องใช้กฎหมายเฉพาะนั้น จะใช้กฎหมายทั่วไป หรือจะใช้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้
ทั้งนี้ ตามประมวลรัษฎากรของกรมสรรพากร ระบุว่า อายุความในกรณียื่นภาษีไม่ถูกต้อง มีอายุความ 5 ปี แต่กรณีผู้เสียภาษีไม่ได้ยื่นแบบนั้น มีอายุความ 10 ปี แต่สำหรับกรณีภาษีหุ้นชินคอร์ปนั้น นายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร ได้ทำการยื่นแบบชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2550 แล้ว ดังนั้น อายุความในกรณีนี้ จึงอยู่ที่ 5 ปี และหมดอายุความไปแล้วตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.2555
โดยประเด็นดังกล่าว ศาลภาษีอากรกลางได้พิพากษาเพิกถอนการประเมินภาษีในคดีหุ้นชินคอร์ป ต่อนายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร ซึ่งหลังจากศาลภาษีอากรกลางพิพากษาแล้ว กรมสรรพากรในขณะนั้นที่มีอดีตอธิบดีกรมสรรพากร นายสาธิต รังคสิริ ไม่ดำเนินการยื่นอุทธรณ์ และเสนอให้ นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง ในสมัยนั้น และอัยการสูงสุดลงนามในการไม่อุทธรณ์ในครั้งนี้
แหล่งข่าวกล่าวว่า การเสนอให้ขยายอายุการประเมินภาษี ตามมาตรา 3 อัฏฐ แห่งประมวลรัษฎากร ที่เกี่ยวกับการขยายกำหนดเวลาการยื่นภาษี การอุทธรณ์ การเสียภาษีนั้น ไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก ในมาตรานี้การขยายระยะเวลา เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เสียภาษี ไม่ใช่เป็นการลงโทษผู้เสียภาษี เช่น กรณี ภาษีมินิแบร์ ที่กรมสรรพากรได้ขยายระยะเวลาการยื่นแบบให้แก่ทางบริษัท เนื่องจากเป็นปัญหาการตีความที่ไม่สอดคล้องกันระหว่างหน่วยงานรัฐ ดังนั้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อบริษัทเอกชน กรมฯ จึงได้ขยายระยะเวลาการยื่นแบบให้แก่บริษัท เพราะหากไม่ขยายระยะเวลาการยื่นแบบ ทางบริษัทจะต้องถูกค่าปรับในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เป็นเงินกว่าหมื่นล้านบาท ขณะที่เนื้อภาษีที่ต้องจ่ายจริงเพียงไม่กี่พันล้านบาท
ส่วนการที่จะขอใช้มาตรา 61 แห่งประมวลรัษฎากรนั้น คงไม่สามารถใช้มาตรานี้มาดำเนินคดีนี้ได้อีก เนื่องจากในช่วงที่คดีนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลภาษีนั้น กรมสรรพากรได้ใช้มาตรานี้เพื่อระบุว่า นายพานทองแท้ และพิณทองทา เป็นผู้ที่ลงนามในเอกสารสำคัญที่แสดงความเป็นเจ้าของทรัพย์สิน คือ หุ้นชินนั้นแล้ว แต่ศาลภาษียกประเด็นเรื่องที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ระบุว่า หุ้นทั้งหมด รวมหุ้นที่เป็นกรณีพิพาททางภาษีนี้ด้วย เป็นของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ดังนั้น จึงไม่สามารถ ยื่นฟ้องซ้ำในคดีเดียวกันนี้ได้อีก
ล่าสุด นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง กรมสรรพากร สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าพบช่วงบ่ายวันนี้ (13 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า การหารือมีความคืบหน้าพอสมควร แต่ในที่สุดจะต้องให้รัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจ พร้อมยืนยันจะไม่มีการใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อขยายอายุความที่เดิมกำหนดไว้ที่สิบปี
ส่วนที่มีแหล่งข่าวจากกรมสรรพากรออกมาระบุว่า กรณีนี้มีอายุความแค่ห้าปี หรือถึงแค่ปี 2555 เท่านั้น นายวิษณุ กล่าวว่า “เรื่องมันยืดยาว ตอบสั้นๆ ไม่ได้ จึงไม่ขอลงรายละเอียด แต่ยืนยันว่ามีอายุความสิบปี”
พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธุ์กุล เลขาธิการ ปปง. ระบุว่า “ผมไม่สามารถให้รายละเอียดได้ แต่ที่ประชุมวันนี้ได้ข้อสรุปที่รัฐบาลแฮปปี้”
ด้าน นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า ยืนยันว่าการดำเนินการต่างๆ จะต้องทำด้วยความรอบคอบ ซึ่งหากครบกำหนดแล้วยังไม่สามารถเรียกเก็บภาษีจากนายทักษิณได้ กรมสรรพากรก็จะต้องชี้แจงให้ได้ว่าเป็นเพราะอะไร
ทั้งนี้ นายวิษณุได้นำผลการหารือไปรายงานให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีทราบแล้วที่ห้องทำงานบนตึกไทยคู่ฟ้า