15 บริษัทจัดการลงทุนหารือแนวทางการจัดตั้ง “กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย” เตรียมจัดตั้งกองทุนรวมหุ้นทั้งนโยบายที่เป็น active fund และ passive fund หรือ ETF ที่เน้นลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนที่มีธรรมภิบาล ส่งเสริมการทำธุรกิจที่คำนึงถึงการดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยได้มีการหารือกันภายในถึงหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกหลักทรัพย์ที่จะลงทุน และจำนวนหลักทรัพย์ใน Universe ที่เหมาะสม
นางวรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ระบุว่า “การประชุมระหว่าง 15 บลจ.ในครั้งนี้เป็นการสานต่อสิ่งที่พวกเราในฐานะผู้ลงทุนสถาบันประกาศต่อสาธารณชนเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เพื่อทำให้ “กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย” เกิดขึ้นภายในปีนี้ด้วยความสมัครใจ ซึ่งด้วยความตั้งใจจริงของ 15 บลจ.ที่เข้าร่วม ทำให้มั่นใจว่า การเกิดขึ้นของกองทุนรวมชนิดนี้จะทำให้ตลาดทุนโดยรวมมีพัฒนาการที่ก้าวหน้าในเรื่องธรรมาภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชัน และเรากำลังแสวงหาแนวทางคัดกรองหุ้นเข้า Universe ที่พวกเราจะลงทุนได้ โดยจะไม่สร้างภาระเพิ่มให้บรรดาบริษัทจดทะเบียน”
ด้านนายวีระ วุฒิคงศิริกูล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บลจ.กรุงไทย ให้ความเห็นว่า เนื่องจากทุกกองทุนที่จัดตั้งขึ้นจะเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ที่มี Universe เดียวกัน ดังนั้น จำนวนหลักทรัพย์ใน Universe ควรมีมากพอที่จะรองรับการลงทุน เพื่อลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์นั้นๆ
ในด้านหลักเกณฑ์การคัดเลือกนั้น สมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์ ให้ความเห็นว่า ในช่วงแรกจะนำหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกหลักทรัพย์ที่มีหน่วยงานกลาง หรือผู้เชี่ยวชาญทำการประเมินอยู่แล้ว โดยอาจใช้หลักเกณฑ์ที่มีมิติในการประเมินหลายมิติประกอบกันก็ได้ เช่น CG, ESG, Anti-corruption อาทิ หลักเกณฑ์ของสถาบัน IOD, SET, สถาบันไทยพัฒน์ แต่ในระยะต่อไปเมื่อมีความพร้อมมากขึ้นแล้ว อาจจัดทำหลักเกณฑ์การคัดเลือกขึ้นมาใช้เองก็ได้
นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา CEO บลจ.บัวหลวง ได้กล่าวถึงประสบการณ์จาก “กองทุนรวมคนไทยใจดี (B-Kind) ซึ่งเลือกลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ตระหนักและปฏิบัติตามแนวทาง ESGC คือคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคมรวมถึงพนักงาน กับธรรมาภิบาลและต่อต้านคอร์รัปชัน โดยกล่าวว่า "บลจ.บัวหลวงได้กำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกหุ้นเป็นการภายใน โดยใช้วิธีการจัดทำแบบสำรวจให้บริษัทจดทะเบียนกรอกข้อมูล เพื่อเราจะได้กลั่นกรองคัดเลือกเป็นหุ้นใน Eligible Universe ก่อนตัดสินใจลงทุนโดยพิจารณาปัจจัยด้าน ESGC และด้านผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาว ซึ่งเราได้สื่อสารให้บริษัทจดทะเบียนเข้าใจและยินดีที่จะให้ข้อมูล หลังจากนั้นเราได้ประเมินผล ติดตามพัฒนาการ ให้เวลาปรับปรุงแก้ไข แต่หากไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือมีพัฒนาการที่ต่ำลง ก็จะพิจารณาคัดออกจากกลุ่มหลักทรัพย์ที่ลงทุน โดยปัจจุบันมีหุ้นในกลุ่มที่เป็น Eligible Universe ของ BKINDไม่ต่ำกว่า 90 หลักทรัพย์”
ด้าน น.ส.ธิดาศิริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการ บลจ.กสิกรไทย มองว่า อุตสาหกรรมควรไปให้ถึง ESG ไม่ใช่หยุดแค่ตัว G หรือ CG ตัว E ตัว S ก็สำคัญมาก ซึ่งแม้วันนี้จะมีเพียง 51 รายชื่อใน THIS ของตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่เชื่อว่าอนาคตจะมีเพิ่มอีกมาก เพราะเป็นเทรนด์ที่ผู้บริโภคทั่วโลกเรียกร้องกันมากขึ้น
“ที่ประชุมมีข้อสรุปว่า ในช่วงแรกจะใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกหุ้นโดยใช้รายชื่อที่มีหน่วยงานที่ดำเนินการอยู่แล้ว โดยเครื่องกรองด่านแรกเป็นการใช้รายชื่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ผ่านการประเมินด้านธรรมาภิบาลจาก IOD (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies 2016) ที่มี CG Rating 3 ดาวขึ้นไป โดยปัจจุบันมี 455 บริษัท มาพิจารณาร่วมกับรายชื่อ บจ.ที่ได้รับการรับรองจาก CAC (Thai IOD) ซึ่งมีประมาณ 120 บริษัท และนำรายชื่อบริษัทที่อยู่ใน THSI (Thailand Sustainable list) ซึ่งเป็นหุ้นยั่งยืน เพราะมี ESG จำนวน 51 บริษัทมาพิจารณาประกอบในด่านแรก โดยอาจจะให้น้ำหนักลงทุนพิเศษกับบริษัทที่ผ่านหลักเกณฑ์ ESG ใน THIS Universe เป็นพิเศษ เช่น ลงทุนกับบริษัทที่ผ่านเกณฑ์ข้อนี้ด้วยอัตราส่วนที่ไม่ต่ำกว่า X% ของ Total Portfolio เป็นต้น ทั้งนี้ สมาคมน่าจะประกาศรายชื่อบริษัทที่ผ่านเกณฑ์กลั่นกรองด่านแรกที่เข้ามาอยู่ใน Universe เป็นรายตัวให้ทราบได้โดยไม่ผิดกฏหมาย เพื่อกระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียนให้ความสนใจเรื่องการมีธรรมาภิบาลที่ดี รวมทั้งเป็นการเปิดเผยให้ผู้สนใจจะลงทุนรับทราบล่วงหน้าก่อนตัดสินใจลงทุน ซึ่งหลังจากนั้น แต่ละ บลจ.จะมีการกลั่นกรองอีกชั้นหนึ่ง โดยนำหุ้นจาก Universe นี้ไปพิจาณาด้วยเกณฑ์การเลือกหุ้นตามสไตล์ลงทุน และการวิเคราะห์เชิงปริมาณ และคุณภาพของแต่ละค่าย” วรวรรณ กล่าว
นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังได้ขอความร่วมมือจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการจัดทำดัชนีของหลักทรัพย์กลุ่มนี้ เพื่อใช้เป็น Benchmark ทั้งสำหรับเปรียบเทียบกองทุนรวม active fund และจัดทำกองทุนรวม passive fund ซึ่งจะมีผลดีในแง่ของการสร้างการรับรู้ให้กับบริษัทจดทะเบียน ผู้ลงทุน และสาธารณชนทั้งในประเทศ และต่างประเทศด้วย
ดร.สมจินต์ ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ทหารไทย ให้ความเห็นว่า การพร้อมใจกันจัดตั้งกองทุนรวมนี้เป็นก้าวหน้าที่สำคัญยิ่งของอุตสาหกรรมกองทุน และตลาดทุนไทย ซึ่งเป็นการสมัครใจสร้างสรรสิ่งที่ดีให้กับสังคมโดยเอกชน และยังจะจัดสรร 40% ของรายได้ค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุน ให้องค์กร หรือโครงการที่ส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนมี CG/ESG ที่ดี และส่งเสริมการต่อต้านคอร์รัปชัน
สำหรับกำหนดการเสนอขายกองทุนธรรมาภิบาลไทยนั้น ที่ประชุมกำหนดเป็นภายในปี 2560 เนื่องจากต้องมีระยะเวลาในการเตรียมความพร้อม และจะได้มีการประชุมหารือพิจารณาการประกาศรายชื่อหลักทรัพย์ใน Universe ทั้งหมด รวมถึงวิธีการพิจารณาคัดเลือกหุ้นเข้า และออกจาก universe ในครั้งต่อไป
ที่มา: กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย
แนวคิดในการจัดตั้ง “กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย” กำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 โดยการประกาศเจตนารมณ์ของสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และสมาคมบริษัทจัดการลงทุนโดยสมาชิก คือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน 15 บริษัท ซึ่งมีขนาดกองทุนภายใต้การบริหารกว่า 93% จากทั้งหมด 22 บริษัท โดยร่วมมือกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มูลนิธิเพื่อคนไทย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และเช้นจ์ เวนเจอร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนที่มีธรรมภิบาลที่ดี
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1.เป็นแรงจูงใจให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ต้องมีการบริหารจัดการ และดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส มีธรรมาภิบาล และตระหนักในความรับผิดชอบต่อสังคม
2.เกิดค่านิยม และวัฒนธรรมการทำการค้าที่ซื่อสัตย์ ไม่ร่วมมือกับคนโกง และไม่ยอมให้ใครโกง
3.เป็นแหล่งทุนสนับสนุนการดำเนินงานของภาคประชาสังคม ให้สามารถดำเนินงานได้อย่างเข้มแข็ง ต่อเนื่อง และเป็นอิสระ
4.เป็นการยกระดับตลาดทุนไทยในเรื่องธรรมาภิบาล และเรื่องการทำหน้าที่ที่ดีของผู้ลงทุนสถาบันในการกำกับดูแลกิจการที่กองทุนนำเงินไปลงทุนระยะยาว ซึ่งจะทำให้เกิดผลตอบแทนที่ยั่งยืนในการลงทุน
รายชื่อ 15 บลจ.ที่ประกาศจะจัดตั้งกองทุน
1. บลจ. กรุงไทย
2. บลจ. กรุงศรี
3. บลจ. กสิกรไทย
4. บลจ. ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล
5. บลจ. ทหารไทย
6. บลจ. ทาลิส
7. บลจ. ทิสโก้
8. บลจ. ไทยพาณิชย์
9. บลจ. บัวหลวง
10. บลจ. บางกอกแคปปิตอล
11. บลจ. ภัทร
12. บลจ. ยูโอบี (ประเทศไทย)
13. บลจ. วรรณ
14. บลจ. เอ็มเอฟซี
15. บลจ. แอสเซท พลัส