xs
xsm
sm
md
lg

เผยหากเฟด ขึ้นดอกเบี้ย อาจกดค่าบาทอ่อนระยะสั้นแตะ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ม.หอการค้าฯ เผยหากเฟดขึ้นดอกเบี้ย อาจกดค่าบาทอ่อนระยะสั้นแตะ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ส่งผลดีต่อภาคการส่งออก และการท่องเที่ยว

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่า การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ในวันที่ 14-15 มี.ค.นี้ FOMC จะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% โดยเชื่อว่าสหรัฐฯ จะพิจารณาจากปัจจัยข้อมูลเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น เช่น อัตราเงินเฟ้อ และการจ้างงาน ซึ่ง FOMC เชื่อว่าการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และอาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีกอย่างน้อย 1-2 ครั้งภายในปีนี้ ซึ่งจะทำให้ ณ สิ้นปี อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐจะอยู่ที่ระดับ 1.25-1.50%

“สถานการณ์ในขณะนี้ การที่เฟดจะตัดสินใจเช่นนั้น เป็นเพราะเฟด เชื่อว่า เศรษฐกิจจะโตได้ 2-2.5% และคิดว่าการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ไม่น่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลก เพราะเฟด ได้ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยมา 1 ปีแล้ว ในปี 59 เพราะเศรษฐกิจโลกผันผวน ซึ่งน่าจะเป็นหลักประกันให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะเติบโตที่ดีขึ้น สหรัฐฯ จึงตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย”

การที่สหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยนำหลายประเทศไปก่อนนั้น อาจส่งผลให้มีเม็ดเงินโยกกลับไปที่สหรัฐฯ ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เงินบาทในช่วงนี้มีทิศทางอ่อนค่า และมีโอกาสแตะระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ ซึ่งผู้ประกอบการจำเป็นต้องทำประกันความเสี่ยงในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนไว้ อย่างไรก็ดี การที่เงินบาทอ่อนค่าจะกลับเป็นประโยชน์ หรือสร้างแต้มต่อให้กับประเทศในเรื่องของการส่งออก และการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

หากสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้วทำให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายออกไปนั้น เชื่อว่าจะเป็นสถานการณ์ในระยะสั้นที่เงินจะไปพักอยู่ที่สหรัฐฯ ก่อน เพื่อรอดูทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ชัดเจนในระยะต่อไป แต่ในส่วนของตลาดตราสารหนี้ของไทยนั้น มองว่า ยังมีการให้ผลตอบแทนในระดับสูง ยังมีแรงจูงใจที่จะทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาในไทย ดังนั้น เงินทุนที่ไหลออกในช่วงสั้นๆ กรณีสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยนั้น คงไม่มีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

โดยสุทธิแล้ว เราน่าจะยังมีเงินทุนไหลเข้ามากกว่าไหลออก เช่น การค้าที่ยังเกินดุล ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังเกินดุล ต่างชาติยังสนใจเข้ามาซื้อตราสารหนี้ ตราสารทุน และเข้ามาลงทุนในไทย ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด อาจทำให้บาทอ่อนระยะสั้น ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า

แต่ภาพระยะปานกลาง น้ำมัน และทองคำจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้น พอมีเงินไหลเข้ามาทั้งภาคส่งออก และท่องเที่ยวในไทย บาทก็จะค่อยๆ ทรงตัว คงอยู่ในระดับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และไม่เป็นตัวบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ หากสหรัฐฯ ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยแล้วทำให้ตลาดเกิดภาวะช็อก โดยมีเงินไหลออกไปพักที่สหรัฐฯ โดยไม่ไหลกลับเข้าไปยังประเทศอื่น ทำให้เศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ เติบโตช้า และมีการทำสงครามค่าเงินกัน เมื่อนั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก แต่เชื่อว่ากรณีนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้น

“เฟดคงเชื่อว่า การขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้จะไม่กระเทือนต่อเศรษฐกิจโลกเหมือนในปี 58 ดังนั้น ภาพในเชิงลบจึงไม่ควรเกิด เว้นแต่เงินไหลไปอยู่ที่สหรัฐฯ ประเทศเดียว แล้วไม่มีเงินเข้าประเทศอื่นเลย เศรษฐกิจหลายประเทศเติบโตช้า จึงจะมีผลต่อเศรษฐกิจโลก ต้องติดตามเป็นระยะ” นายธนวรรธน์ กล่าวสรุป
กำลังโหลดความคิดเห็น