xs
xsm
sm
md
lg

ผลกระทบตลาดทุนไทย หาก FED ขึ้นดอกเบี้ย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิตลาดหุ้นไทยเป็นวันที่ 7 มากถึง 2,412 ล้านบาท และขายสุทธิตลาดตราสารหนี้เป็นวันที่ 7 เร่งขึ้นเป็น 3,571 ล้านบาท แต่ Long สุทธิใน SET50 Index Futures เป็นวันแรกในรอบ 3 วันทำการ 1,436 สัญญา

ทั้งนี้เงินทุนต่างชาติเริ่มไหลออกจากตลาดหุ้นไทยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิเดือนก.พ.ทั้งสิ้น 3,749.46 ล้านบาท และเดือน มี.ค. (1-7 มี.ค.) ต่างชาติขายสุทธิ 8,128.66 ล้านบาท สำหรับในตลาดตราสารหนี้ (พันธบัตรและบอนด์) ข้อมูลจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ระบุว่า ในเดือน ม.ค.-ก.พ. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 67,781 ล้านบาท แต่ในเดือน มี.ค. (1-3 มี.ค.) เงินทุนต่างชาติไหลออกสุทธิ 10,440 ล้านบาท ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (ยีลด์) ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้ อยู่ในระดับสูงอย่างมีนัยสำคัญ

“เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล. เอเซีย พลัส ระบุ ผลสำรวจ Fed Fund Future ของ Bloomberg พบว่าโอกาสขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐระหว่างวันที่ 14-15 มี.ค. เพิ่มขึ้นเป็น 96% จาก 94% และในรอบถัดไปตั้งแต่รอบเดือน พ.ค. เป็นต้นโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเป็น 96% เพราะอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศประจำเดือนมกราคมอยู่ที่ 2.5% (จาก 2.1% ธ.ค. และ 1.0% พ.ย.59) ปรับตัวขึ้นสูงกว่าเป้าหมายที่ FED คาดการณ์ไว้

ขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ยังคงเดินหน้ามาตรการห้ามประชาชนประเทศมุสลิมรวม 6 ประเทศอาทิ ลิเบีย, อิหร่าน, โซมาเลีย, ซูดาน และเยเมน เข้าสหรัฐเป็นเวลา 90 วัน ทั้งนี้ไม่รวมผู้ที่มี VISA หรือถือ Green card โดยจะมีผลบังคับใช้ 16 มี.ค. และยังคงห้ามมิให้ผู้อพยพเข้าประเทศเป็นเวลา 120 วัน เหมือนเดิม

ในส่วนประเด็นการกีดกันทางการค้า เชื่อว่ามีโอกาสที่นายทรัมป์จะเลือกกีดกันประเทศที่สหรัฐขาดดุลการค้าหลักๆ โดยเฉพาะ จีน เนื่องจากสหรัฐขาดดุลการค้ากับจีนสูงสุดราว 40% ของการขาดดุลทั้งหมดปีละ 4 แสนล้านเหรียญฯ ทั้งนี้สินค้าที่สหรัฐนำเข้าจีนหลักคือ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร เฟอร์นิเจอร์ ของเล่น รองเท้า

กรณีนี้นักวิเคราะห์ เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อไทยโดยทางอ้อม เพราะสัดส่วนสินค้าไทยส่งออกไปจีนอยู่ที่ราว 11.05% ของยอดส่งออกรวมทั้งหมด ขณะที่สหรัฐนำเข้าไทยราว 10% ของมูลค่าส่งออกรวมของไทย สินค้านำเข้าหลักคือ แผงวงจรชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้สำนักงาน ยางแผ่นและยางแท่ง และอาหารทะเล เป็นต้น

ประเด็นที่ “เทิดศักดิ์” ย้ำ คือท่าทีของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ กนง.ที่อาจปรับแนวทางการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยสูงตามสหรัฐ โดยหาก FED ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งปี 2560 รวม 3 ครั้งตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ก็มีความเป็นไปได้ที่ กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศขึ้น 1 ครั้ง เนื่องจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อเดือนก.พ. อยู่ที่ 1.44% เทียบกับ 1.55% เดือน ม.ค. และ 1.13% ใน ธ.ค. 59 ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายไทยอยู่ที่ 1.5% ทำให้ช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยฯกับเงินเฟ้อเริ่มลดลง แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นจึงกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะผู้ที่พึ่งพาการกู้ยืม และมีต้นทุนการกู้ยืมมีสัดส่วนดอกเบี้ยลอยตัวสูง
      “อย่างไรก็ตาม P/E ที่ระดับ 15 เท่า ของตลาดหุ้นไทย ถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแพง หากเทียบกับค่าเฉลี่ย แต่ยังถูกกว่าหลายประเทศในภูมิภาค ผมเชื่อว่าที่ระดับดัชนีแถวๆ 1,550-1,560 จุด เป็นระดับที่ลงทุนได้ จาก Upside ของตลาดหุ้นไทยที่ยังมีโอกาสบวกขึ้นไปถึงระดับ 1,700 จุด ช่วงนี้แนะทยอยเก็บหุ้นไทยที่มีการเติบโตดีเข้าพอร์ตเพิ่มขึ้น  โดยฝ่ายวิจัยให้น้ำหนักค่อนข้างมากกับหุ้นในกลุ่มธนาคารของไทย เพราะปัจจุบัน P/BV เฉลี่ยของกลุ่มที่ระดับ 1.2 เท่า ยังถูกกว่าหุ้นกลุ่มธนาคารในประเทศเพื่อนบ้านที่สูงกว่า 1.5 เท่าขึ้นไป ประกอบกับ P/E ที่ระดับ 10 เท่าในปัจจุบัน ไม่ได้สูงเกินไปนัก อีกทั้งความกังวลต่อหนี้เสีย คิดว่าได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว”

“ดอน นาครทรรพ” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับว่าหาก FED ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบนี้ ถือเป็นการปรับขึ้นเร็วกว่าประมาณการเดิมของ ธปท. ซึ่งเป็นการสะท้อนความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐ และหลังจาก FED ขึ้นดอกเบี้ยแล้ว อาจเห็นทิศทางเงินทุนต่างชาติไหลออกจากภูมิภาคนี้กลับไปสหรัฐมากขึ้น
ส่วนผลต่อประเทศไทยจะช่วยลดแรงกดดันค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากตั้งแต่ต้นปี 2560 ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น เพราะมีกระแสเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามา ประกอบกับประเทศไทยดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลในระดับสูง เนื่องจากรายได้จากการส่งออกและท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ค่าบาทเปิดตลาดที่ "35.11 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากปิดตลาดวานนี้ที่ 35.08 บาทต่อดอลลาร์ “จิติพล พฤกษาเมธานันท์” นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุโดยรวมค่าเงินดอลลาร์ยังคงแกว่งตัวแคบๆ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับยูโรและเยน
       “ แนวโน้มโดยรวมสกุลเงินเอเชียต่างๆจะยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ไปจนถึงก่อนการประชุมเฟดมองกรอบค่าเงินระหว่างวันที่ระดับ 35.05-35.15 บาทต่อดอลลาร์”

“อริยา ติรณะประกิจ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ ไทย ระบุผลจาก คาดคาดการณ์ว่า FED มีแนวโน้มจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในเดือน มี.ค. ทำให้เม็ดเงินไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ในทันที แต่โดยรวมยังไม่ถือว่าเป็นการไหลออกอย่างมีนัยสำคัญ และยังต้องจับตาปัจจัยอื่น ๆ ที่จะมีผลต่อการไหลเข้าออกของเงินทุนต่างชาติ โดยเฉพาะการตัดสินใจ ของประเทศสมาชิกในยุโรปว่าจะยังเกาะกลุ่มกันอย่างไร หรือจะมีประเทศใดตัดสินใจ ออกจากกลุ่ม ซึ่งประเด็นนี้จะส่งผลให้เกิดความผันผวนของการลงทุนได้ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยช่วงครึ่งปีแรกน่าจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเงินเฟ้อในประเทศไม่ได้เร่งตัว

ด้านสมาคมค้าทองคำระบุว่า ราคาทองคำในเดือน มี.ค.เริ่มปรับตัวลดลง ต่อเนื่อง โดยล่าสุดเวลา 10.12 น.เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ราคาทองคำแท่ง (96.5%) อยู่ที่ 20,200 บาท ส่วนทองรูปพรรณ (96.5%) อยู่ที่บาทละ 20,800 บาท หลังจากสิ้นเดือน ก.พ. ราคาทองคำแท่งปิดตลาดบาทละ 20,700 บาท ส่วนทองรูปพรรณอยู่ที่บาทละ 21,200 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น