เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้อํานวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส ระบุตลาดหุ้นให้น้ำหนักกรณีธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศ 0.25% หลัง นางเจเน็ต เยลเลน แถลงสุนทรพจน์ ที่ Executives Club of Chicago ยืนยันว่า “การขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบ 14-15 มี.ค.นี้ น่าจะมีความเหมาะสม” ทำให้ความคาดหวังต่อ dollar index แกว่งตัวในทิศทางแข็งค่ายังมีอยู่และดึงเงินทุนไหลออกจากประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งจะทำให้สภาพคล่องโดยรวมที่ตลาดกำลังพัฒนามีแนวโน้มลดลง และน่าจะกดดันให้มีการขึ้นดอกเบี้ยในลักษณะเดียวกัน
ขณะที่เงินเฟ้อในไทย ประจำเดือนเดือน ก.พ.60 อยู่ที่ 1.44% เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอจาก 1.55% เดือน ม.ค. และ 1.13% ในเดือน ธ.ค. จากการฟื้นตัวของสินค้าหมวดโภคภัณฑ์ ทั้งน้ำมัน ยาง น้ำตาล และหมวดไม่มีแอลกอฮอลล์ เป็นหลัก
“เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ 1.5% ทำให้ช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยฯ กับเงินเฟ้อเริ่มลดลง และหากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นตามกระแสโลกคาดว่าจะทำให้ กนง. อาจจะต้องกลับมาทบทวนการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งน่าจะกระทบต่อตลาดหุ้นโลก เพราะต้นทุนการเงินจะเพิ่มขึ้น สำหรับผู้ที่พึ่งพาการกู้ยืม และมีสัดส่วนดอกเบี้ยลอยตัวสูง ขณะที่ผลตอบแทน หรือราคาขายปรับเพิ่มไม่ได้หรือได้น้อย เช่น บริษัทที่มี D/E สูงเกิน 1 เท่า และมีส่วนต่างของดอกเบี้ยสุทธิลอยตัวสูง (ดอกเบี้ยรับ-ดอกเบี้ยจ่าย) เช่นกลุ่ม “เช่าซื้อ (Hire Purchase)" และ “ลีสซิ่ง (Leasing) ตรงกันข้ามกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ดอกเบี้ยขาขึ้นอาจจะเอื้อประโยชน์ให้เกิดกำไรจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยมากกว่า”
แนะนำ หลีกเลี่ยงหุ้น IFS, S11, LIT, ASK, THANI, SAWAD, AEONTS, TK ส่วน JMT เป็นผู้บริหารหนี้เสีย โดยไปรับซื้อหนี้รายย่อยจากสถาบันการเงินจึงน่าจะกระทบดอกเบี้ยขาขึ้นน้อย เพิ่มน้ำหนักการลงทุนหุ้นกลุ่มธนาคาร ซึ่งเรียงลำดับจากมากไปน้อย BBL, KTB, SCB, KBANK ขณะที่หุ้นเล็กได้ประโยชน์น้อยกว่า แต่อย่างไรก็ตาม หุ้นใหญ่บางแห่งขยับขึ้นมาแล้วทำให้มี upside จำกัด BBL เหลือ 8% KTB 3.5%, SCB 15% และ KBANK 20% สถานการณ์นี้จึงน่าจะมีหุ้นธนาคารเก็บไว้ในพอร์ตบ้าง โดยเลือก SCB และ KBANK เป็น Top picks