สศช.เผยหนี้สินคนไทยชะลอตัวต่อเนื่อง ขณะที่รายได้เพิ่มขึ้น แต่ต้องเร่งรณรงค์แรงงานนอกระบบให้มีการออมเพิ่มมากขึ้น
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 และตลอดปี 2559 โดยระบุว่า หนี้สินครัวเรือนชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยภาวะหนี้น่าจะเริ่มทรงตัว และลดลง โดยเห็นได้จากสินเชื่อ และการสร้างหนี้ครัวเรือนไม่สูงเหมือนช่วง 3-4 ปีก่อนหน้านี้ และระดับหนี้ไตรมาส 4 ปี 2559 มีสัญญาณเริ่มลดลง
ดังนั้น ปี 2560 รายได้เพิ่มขึ้นจะช่วยหนี้สินครัวเรือนชะลอตัวลง หนี้รถยนต์ที่ผ่อนจะเริ่มหมดลง หนี้ใหม่ที่ไม่สูงขึ้น ภาพรวมหนี้สินครัวเรือนคงจะชะลอตัวลง ภาครัฐพยายามช่วยหนี้รายย่อย และครัวเรือน ที่ต้องการกู้ฉุกเฉินเป็นธรรมมากขึ้น ดอกเบี้ยไม่สูงเกินไป และบางส่วนใช้หนี้ในระบบจะช่วยลดภาระหนี้ลงได้
นายปรเมธี กล่าวว่า ไตรมาส 3 ปี 2559 หนี้ครัวเรือนมีมูลค่าเท่ากับ 11,335,652 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ร้อยละ 4.1 ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 จากร้อยละ11.5 เป็นร้อยละ 6.6 ปี 2557 ร้อยละ 5.2 ปี 2558 และร้อยละ 4.7 ไตรมาสแรกปี 2559 และร้อยละ 4.3 ไตรมาส 2 ปี 2559 โดยมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 81.0 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 7.4 ปี 2557 เป็นร้อยละ 5.2 ไตรมาสแรกปี 2559
สำหรับไตรมาส 4 ปี 2559 หนี้ครัวเรือนยังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวชะลอลงเหลือร้อยละ 4.9 โดยเป็นการชะลอลงของสินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งขยายตัวชะลอลงจากร้อยละ 7.7 และ 1.9 ไตรมาส 3 ปี 2559 เป็นร้อยละ 7.0 และ1.3 ไตรมาสนี้
ด้านความสามารถชำระหนี้เมื่อพิจารณจากสัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม พบว่า ลดลงจากร้อยละ 2.73 ไตรมาส 3 ปี 2559 เป็นร้อยละ 2.71 ไตรมาสนี้ และลูกหนี้ที่ค้างชำระเงินต้น หรือดอกเบี้ยเกินกว่า 1 เดือน แต่ไม่ถึง 3 เดือน ลดลงจากร้อยละ 3.26 ไตรมาส 3 ปี 2559 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.19 ในไตรมาสนี้ ขณะที่การผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับมีมูลค่า 10,602 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 36.9 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.1 ของยอดสินเชื่อคงค้าง สำหรับการผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อบัตรเครดิตมีมูลค่า 10,383 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.7 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.9 ของยอดสินเชื่อคงค้าง
สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบให้แก่ผู้มีรายได้น้อย รัฐบาลเปิดให้เจ้าหนี้นอกระบบจดทะเบียนผู้ประกอบการธุรกิจ รวมทั้งเพิ่มช่องทางให้ประชาชนรายย่อยที่มีความจำเป็นกู้ยืมผ่ายสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ และเห็นชอบร่างแผนพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน พ.ศ.2560-2564 เพื่อเป็นกรอบแนวทางพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชนที่ชัดเจน และให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐได้อย่างทั่วถึง และมีคุณภาพ ตลอดจนเพิ่มศักยภาพลูกหนี้โดยฟื้นฟู และอบรมอาชีพ การปลูกฝังความรู้ และวินัยทางการเงิน และติดตามผล เพื่อป้องกันการกลับไปเป็นหนี้ รวมทั้งคุ้มครองลูกหนี้โดยออกพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 เป็นต้น
ด้านการออม ประชาชนมีการออมเพื่อเกษียณอายุเพิ่มขึ้น ผู้ประกันตนระบบประกันสังคมปี 2559 จำนวน 14 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 1.8 อายุส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 30-50 ปี ซึ่งการออมเริ่มต้นช้า ยังส่งผลต่อความเพียงพอของเงินบำนาญที่จะได้รับ ขณะที่ยังมีแรงงานกว่าร้อยละ 50 หรือ 18 ล้านคน ยังไม่มีหลักประกันรายได้หลังเกษียณ โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ จึงต้องเร่งรณรงค์สร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจ ตระหนักถึงประโยชน์เพื่อให้เข้าสู่ระบบการออมมากขึ้น การเพิ่มจำนวนเงินออม และการบริหารเงินหลังเกษียณ เพื่อให้มีเงินเพียงพอต่อการดำรงชีพหลังเกษียณ
นายปรเมธี กล่าวถึงการจ้างงานไตรมาส 4 ปี 2559 ลดลงทั้งภาคเกษตร และนอกภาคการเกษตร อัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 0.97 และตลอดปี 2559 อัตราว่างงานเท่ากับร้อยละ 0.99 ส่วนค่าจ้างแรงงาน และค่าล่วงเวลาเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 โดยผลิตภาพแรงงานภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 และผลิตภาพแรงงานนอกภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 สำหรับประเด็นที่คาดว่า จะมีผลต่อการจ้างงาน และรายได้ของแรงงานปี 2560 ได้แก่ การจ้างงานภาคการเกษตร แม้สภาพอากาศคลี่คลาย และเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่อุทกภัยที่เกิดขึ้นช่วงเดือนธันวาคมปี 2559 ถึงมกราคม 2560 ทำให้เกิดความเสียหายกับประชาชน และเกษตรกร โดยพืชได้รับผลกระทบมากกว่า 1.095 ล้านไร่ ด้านประมง 96,114 ตารางเมตร และปศุสัตว์ 8.8 ล้านตัว ที่ต้องช่วยเหลือเยียวยา และฟื้นฟูที่ทำกินของเกษตรกรต่อไป รวมถึงปัญหาน้ำในเขื่อนมีน้อยอาจไม่พอใช้ในฤดูแล้งที่จะมาถึง
ส่วนการว่างงาน แม้อัตราว่างงานของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ โดยปี 2559 เท่ากับร้อยละ 1.0 แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556-2558 จากร้อยละ 0.8, 0.9 และ 0.9 ตามลำดับ และเดือนมกราคมปี 2560 อัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 1.2 ประกอบกับคาดการณ์ผู้จบการศึกษาใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานปี 2560 ประมาณ 550,000 คน และประมาณร้อยละ 61 เป็นผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา อย่างไรก็ตาม คาดว่าปี 2560 เศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 3.0-4.0 โดยมีการขยายตัวดีทุกด้าน โดยเฉพาะภาคเอกชน และการส่งออกที่มีแนวโน้มจะขยายตัวดีขึ้นหลังจากที่ชะลอตัวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คาดว่าจะช่วยเพิ่มตำแหน่งงาน และสามารถรองรับแรงงานใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานได้
ขณะที่การปรับตัวของตลาดแรงงานเข้าสู่ยุคดิจิตอล 4.0 จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความต้องการแรงงานทั้งคุณสมบัติ และผลตอบแทนของแรงงาน รัฐบาลจึงมีเป้าหมายสร้างกำลังคนของประเทศให้มีประสิทธิภาพ “Productive Manpower” ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ปี 2559 มีกำลังแรงงานรวม 38.3 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้มีงานทำ 37.73 ล้านคน ลดลงจากปีที่ 2558 คิดเป็นร้อยละ 0.9 ด้านผู้ว่างงาน 400,000 คน อัตราว่างงานคิดเป็นร้อยละ 1 การเร่งยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยเพื่อเตรียมเด็ก และเยาวชนให้พร้อมเข้าสู่ยุคประเทศไทย 4.0 โดยส่งเสริมการเรียนรู้เชิงบูรณาการแบบ STEMS และกำหนดไว้ในร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ ปี 2560-2579 ผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมลดลง แต่ยังต้องเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ที่พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง