xs
xsm
sm
md
lg

เฟด ขึ้น ดบ.กดดัชนีแกว่งในกรอบ 1,550-1,600 จุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บล.แอพเพิล เวลธ์ มองหาก “เฟด” ขึ้นดอกเบี้ยแรง!!! กดดัน SET เดือน มี.ค.60 แกว่งตัวในกรอบ 1,550-1,600 จุด ชี้ปัจจัยในประเทศ ส่งออกฟื้น-งบ บจ.ปี 59 แจ่ม ยังช่วยหนุนดัชนีฯ แนะเกาะติดนโยบายเศรษฐกิจ “ทรัมป์” ใกล้ชิด หวั่น Fund Flow ไหลออก เชียร์สอยหุ้นผลตอบแทนสูง KTB, KKP, AP, SC, BCP กลุ่มส่งออก CPF, GFPT, STA และกลุ่มท่องเที่ยว ERW, AAV เข้าพอร์ต

นายอภิชัย เรามานะชัย รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ แอพเพิล เวลธ์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ฝ่ายวิเคราะห์ประเมินดัชนีตลาดหุ้นไทยในเดือน มี.ค.2560 ยังคงถูกแรงกดดันจากความไม่ชัดเจนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ และความเสี่ยงของอัตราดอกเบี้ยที่สหรัฐฯ ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับขึ้นเร็วกว่าคาดการณ์ในการพิจารณาวันที่ 15 มี.ค.นี้ ส่งผลให้ดัชนีมีโอกาสแกว่งตัวในกรอบแนวรับ 1,550 จุด แนวต้าน 1,600 จุด (Forward P/E 15.0-15.50 เท่า)

“ขณะนี้นักลงทุนต่างชาติยังชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นเกิดใหม่ เพื่อรอประเมินผลกระทบจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ รวมถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ (FOMC) ซึ่งมีโอกาส 80% ที่เฟด จะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการกดดันตลาดหุ้นไทย” นายอภิชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยยังได้แรงหนุนจากปัจจัยในประเทศ หลังการประกาศตัวเลขการส่งออกในเดือน ม.ค.2560 ที่ขยายตัวดีกว่าคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น 8.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าเกษตร และราคาน้ำมันที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในปี 2559 มีกำไรสุทธิ 8.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากแรงหนุนในหุ้นกลุ่มพลังงาน และปิโตรเคมี ที่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น รวมถึงการประกาศจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียน ในช่วง มี.ค.-เม.ย.นี้ ยังเป็นปัจจัยช่วยหนุนดัชนีฯ

สำหรับปัจจัยต่างประเทศที่ยังต้องติดตามในเดือน มี.ค. คือ รายละเอียดนโยบายปรับลดภาษีนิติบุคล (จะปรับจากเดิมเก็บ 35% ลดลงอยู่ที่ 20% หรือ 15%), ลดภาษีบุคคลธรรมดาของประธานาธิบดีทรัมป์ รวมถึงแผนลงทุนโครงสร้างสาธารณูปโภค ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอาจมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลให้กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นเกิดใหม่มีโอกาสชะลอตัวลง โดย Fund Flow นักลงทุนต่างชาติในตลาด TIP (ไทย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์) เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ยังคงขายสุทธิ 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย จำนวน 107 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค.60 ที่ซื้อสุทธิ 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กลยุทธ์การลงทุน แนะนำทยอยซื้อเมื่อดัชนีอ่อนตัวลงสู่แนวรับที่ 1,550 จุด โดยซื้อลงทุนกลุ่ม High Yield Stock (หุ้นผลตอบแทนสูง) เช่น KTB, KKP, AP, SC, BCP ซื้อหุ้นกลุ่มส่งออก เช่น CPF, GFPT, STA และหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว เช่น ERW, AAV
กำลังโหลดความคิดเห็น