xs
xsm
sm
md
lg

BTS จะตั้ง 2 บ.ร่วมทุนเข้าทำสัญญารับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีชมพู-สีเหลือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS แจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทว่า ให้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ข้อตกลงร่วมกันของกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (บริษัทร่วมทุน) จะจัดตั้งบริษัทร่วมทุน 2 บริษัท

เพื่อดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ช่วงแคราย-มีนบุรี) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว-สำโรง) โดยคาดว่าบริษัทร่วมทุนแห่งหนึ่งจะเข้าทำสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และบริษัทร่วมทุนอีกแห่งหนึ่งจะเข้าทำสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

สำหรับบริษัทร่วมทุนทั้ง 2 แห่ง จะมีผู้ถือหุ้น 3 บริษัท ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ BTS ถือหุ้นในสัดส่วน 75%, บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) สัดส่วน 15%, และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) สัดส่วน 10% โดยบริษัทร่วมทุนแต่ละแห่งจะมีทุนจดทะเบียน 3,500 ล้านบาท และก่อนเริ่มให้บริการการเดินรถไฟฟ้า บริษัทร่วมทุนแต่ละแห่งจะมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วประมาณ 14,000-17,423 ล้านบาท

มูลค่ารวมของสิ่งตอบแทนของธุรกรรมการได้มาซึ่งสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ประกอบด้วย มูลค่ารวมของประมาณการเงินลงทุนสำหรับโครงการ รวมถึงส่วนต่อขยาย จำนวนประมาณ 47,314 ล้านบาท และส่วนแบ่งรายได้ของโครงการจำนวนประมาณ 250 ล้านบาท รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 47,564 ล้านบาท

ส่วนมูลค่าของสิ่งตอบแทนของธุรกรรมการได้มาซึ่งสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ประกอบด้วย มูลค่ารวมของประมาณการเงินลงทุนสำหรับโครงการ รวมถึงส่วนต่อขยายจำนวนประมาณ 46,404 ล้านบาท และส่วนแบ่งรายได้ของโครงการจำนวนประมาณ 250 ล้านบาท รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 46,654 ล้านบาท

ขณะที่บริษัทร่วมทุนได้รับสิทธิเพียงผู้เดียวในการประกอบการโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และในการจัดเก็บรายได้ ซึ่งมาจากค่าโดยสาร ค่าจอดรถ และการพัฒนาเชิงพาณิชย์ เป็นระยะเวลา 30 ปี โดยตกลงแบ่งรายได้ให้แก่ รฟม.ตลอดระยะเวลาของสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ประมาณ 250 ล้านบาท และสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ประมาณ 250 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทร่วมทุนยังมีสิทธิได้รับเงินสนับสนุนค่างานโยธาจากภาครัฐอีกจำนวน 22,500 ล้านบาท สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และจำนวน 25,050 ล้านบาท สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง รวมจำนวนทั้งสิ้น 47,550 ล้านบาท ซึ่ง รฟม.จะทยอยจ่ายให้แก่บริษัทร่วมทุนหลังจาก รฟม.ออกหนังสือรับรองการเริ่มให้บริการเดินรถไฟฟ้าทั้งระบบ (Commissioning Certificate) แล้ว โดยแบ่งจ่ายเป็นรายปี เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี ซึ่งบริษัทร่วมทุนจะบันทึกยอดเงินดังกล่าวเป็นลูกหนี้ในงบดุล โดยยอดเงินดังกล่าวจะทยอยลดลงตามจำนวนเงินที่ได้รับจาก รฟม.

กำลังโหลดความคิดเห็น