“คลัง” เปิดฉากปฏิบัติขจัดหนี้นอกระบบเป็นศูนย์ เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจฐานราก เน้นทำครบวงจรทั้ง 5 มิติ ประเดิมแจกใบอนุญาตพิโกไฟแนนซ์กลุ่มแรก
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วันนี้ (1 มี.ค.) กระทรวงการคลังได้จัดงานเปิดตัวการแก้ไขหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการ และยั่งยืนภายใต้แนวคิด “ขจัดหนี้นอกระบบเป็นศูนย์” ซึ่งการจัดงานดังกล่าวเป็นการแสดงถึงเจตนารมณ์ร่วมกันของภาครัฐในการขจัดหนี้นอกระบบให้หมดไป เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และส่งเสริม การขยายตัวของเศรษฐกิจฐานราก โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดงานพร้อมทั้งกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน”
ทั้งนี้ แนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการ และยั่งยืนนั้น เป็นการแก้ปัญหาทั้งในส่วนของลูกหนี้ และเจ้าหนี้ควบคู่กันไปอย่างเป็นระบบครบวงจร และต่อเนื่อง ซึ่งประกอบด้วย 5 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 การดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมายโดยได้มีพระราชบัญญัติห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ซึ่งเพิ่มโทษกับเจ้าหนี้นอกระบบเพื่อกำจัดเจ้าหนี้นอกระบบให้หมดไปจากประเทศไทย
มิติที่ 2 การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบให้กับลูกหนี้นอกระบบ และประชาชนทั่วไป โดยสนับสนุนให้เจ้าหนี้นอกระบบเข้ามาเป็นเจ้าหนี้ในระบบที่ถูกต้องตามกฎหมายผ่านการขออนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ และพิโกไฟแนนซ์ ซึ่งกระทรวงการคลังได้ใช้โอกาสในงานมอบใบอนุญาตการประกอบธุรกิจ พิโกไฟแนนซ์ให้แก่ผู้ประกอบการกลุ่มแรกที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว จำนวน 6 ราย ได้แก่ บริษัท นิวสันติ 999 ลีสซิ่ง จังหวัดกำแพงเพชร, บริษัท คำเขื่อนแก้วธุรกิจ จำกัด จังหวัดยโสธร, บริษัท บีอิน สไปร์ด จำกัด จังหวัดกรุงเทพมหานคร, บริษัท คุณสมร จำกัด จังหวัดพิจิตร, บริษัท 99 มงคล จำกัด จังหวัดตรัง และบริษัท คู นิติ จำกัด จังหวัดบุรีรัมย์
อีกทั้งธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้จัดตั้งหน่วยธุรกิจเพื่อรับผิดชอบในการให้คำปรึกษาเรื่องการแก้ไขหนี้นอกระบบ และจัดให้มีสินเชื่อแบบใหม่เพื่อทดแทนหนี้นอกระบบในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม โดยธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะให้สินเชื่อแก่ผู้ที่ต้องการเงินฉุกเฉินรายละไม่เกิน 50,000 บาท คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 0.85% ต่อเดือน หรือคิดเป็น 18.83% ต่อปีโดยไม่นำการตรวจเครดิตบูโรมาเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาสินเชื่อวงเงินสินเชื่อทั้งหมด 10,000 ล้านบาท
มิติที่ 3 การลดภาระหนี้นอกระบบโดยการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้โดยภาครัฐได้จัดให้การไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ โดยคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ ซึ่งมีอยู่ในทุกจังหวัดจัดให้มีจุดให้คำปรึกษาหนี้นอกระบบ ที่ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.ทุกสาขาทั่วประเทศ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ได้อย่างทั่วถึง
มิติที่ 4 การเพิ่มศักยภาพของลูกหนี้นอกระบบ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ความรู้ทางการเงิน ให้ความรู้ด้านการประกอบอาชีพ และการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้ลูกหนี้มีรายได้ที่เพียงพอ และไม่ต้องเป็นหนี้ซ้ำอีก
มิติที่ 5 การร่วมมือกันอย่างบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยพัฒนาเครือข่ายองค์กรการเงินชุมชนให้ทำหน้าที่ทดแทนเจ้าหนี้นอกระบบการให้หน่วยงานของรัฐธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานพี่เลี้ยง และสนับสนุนเงินทุนให้กับองค์กรการเงินชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง และการให้หน่วยงานต่างๆ ร่วมกันทำหน้าที่ให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนในชุมชน รวมทั้งการจัดทำฐานข้อมูลหนี้นอกระบบเพื่อใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายที่เหมาะสม และตรงเป้าหมายในอนาคต
รมว.คลัง ระบุว่า การจัดงานเปิดตัวหนี้นอกระบบในครั้งนี้มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมงานประมาณ 1,500 คน โดยมาจากหลายหน่วยงานทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ผู้แทนหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องผู้แทนจากคณะกรรมการกำกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนจากคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบประจำจังหวัด และประจำกรุงเทพมหานคร ผู้แทนจากคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบประจำจังหวัด และประจำกรุงเทพมหานคร ผู้แทนองค์กรการเงินชุมชน และภาคเอกชนที่สนใจประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้มอบใบอนุญาตการประกอบธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ให้แก่ผู้ประกอบการกลุ่มแรกที่ได้รับใบอนุญาตจำนวน 6 ราย อีกทั้งผู้บริหารธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.ยังได้มอบสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินให้กับลูกหนี้นอกระบบ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ทั้งในส่วนของลูกหนี้ และเจ้าหนี้ควบคู่กันอย่างครบวงจร
“การจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสในการประชาสัมพันธ์แนวทางการแก้ไขหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการ และยั่งยืนของภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนที่กำลังประสบปัญหาหนี้นอกระบบได้รู้ว่า จะขอรับความช่วยเหลือได้ที่ไหน อย่างไร เจ้าหนี้นอกระบบที่ต้องการประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องได้รู้ว่าจะต้องดำเนินการขออนุญาตที่ไหน อย่างไร และเป็นการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันของหน่วยงานภาคีทั้ง 12 หน่วยงานในการร่วมกันแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้หมดไปจากประเทศไทย ตามแนวคิดในการจัดงานที่ว่า ขจัดหนี้นอกระบบเป็นศูนย์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลชุดนี้กำหนดไว้ในการดำเนินมาตรการ หรือโครงการต่างๆ มาโดยตลอด”