เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน เดินหน้าลุยธุรกิจพลังงานเต็มกำลัง หลังโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตฯ ภาครัฐคืบหน้า ล่าสุด เซ็น PPA ขายไฟกับ กฟภ.เพิ่มอีก 2 โครงการ รวม 11 เมกะวัตต์ หนุนกอด PPA ไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมเป็นอับดับหนึ่ง รวม 20.4 เมกะวัตต์ ขณะบอร์ดอนุมัติเม็ดเงินทันทีกว่า 1,400 ลบ. ก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะอุตฯ โครงการใหม่ พร้อมตั้งบริษัทย่อยลุยธุรกิจรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าครบวงจร มั่นใจพร้อมขายไฟในปี 62 ตามแผน
นายสุวัฒน์ เหลืองวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) (BWG) ผู้นำในธุรกิจกำจัดกากอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร ทั้งฝังกลบ เผาทำลาย นำกลับมาใช้ใหม่ และเป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงานทดแทนรายเดียวในประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 บริษัท รีคัฟเวอรี่ เฮ้าส์ จำกัด (RH) และบริษัท เอวา แกรนด์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (AVA) ซึ่งสองบริษัทมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของบริษัท เอิร์ธ เท็คเอนไวรอนเมนท์ จำกัด (ETC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ BWG ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power purchase agreement : PPA) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเรียบร้อยแล้ว หลังจากผ่านการคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในการรับซื้อไฟฟ้าพิเศษจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ Feed-in Tariff (FIT) สำหรับการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนปี 2558-2562 ส่งผลให้บริษัทฯ มี PPA ในมือแล้วถึง 20.4 เมกะวัตต์ จาก 3 โครงการ
สำหรับบริษัท รีคัฟเวอรี่ เฮ้าส์ จำกัด เป็นเจ้าของโครงการผลิต และจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 7.0 เมกะวัตต์ และขนาดกำลังการผลิตเสนอขาย 5.5 เมกะวัตต์ โดยโครงการตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร จ.พระนครศรีอยุธยา และบริษัท เอวา แกรนด์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด เจ้าของโครงการผลิต และจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 4.0 เมกะวัตต์ และขนาดกำลังการผลิตเสนอขาย 3.0 เมกะวัตต์
โดยโครงการตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมพิจิตร จ.พิจิตร ส่วนโครงการแรกเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมระบบผสมผสานแห่งแรกของประเทศ ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 9.4 เมกะวัตต์ และขนาดกำลังการผลิตเสนอขาย 8.0 เมกะวัตต์ ของบริษัทเอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมแก่งคอย จังหวัดสระบุรี
“โครงการใหม่ทั้งสองโครงการพร้อมจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างทันที เพราะเรามีประสบการณ์ตรงจากการก่อสร้างโครงการของ ETC ทำให้เราทำงานได้รวดเร็วขึ้น ตลอดจนมีทีมวิศวกรชำนาญการไฟฟ้าที่มีประสบการณ์เป็นอย่างดี ซึ่งจะทำให้งานต่างๆ แม่นยำถูกต้องใช้เวลาน้อยลง ส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้สำหรับการผลิตไฟฟ้า ปัจจุบันสามารถพัฒนาเชื้อเพลิงจากกากอุตสาหกรรมจนอยู่ในระดับที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงประเภทนี้
หลังจากที่ใช้เวลาพัฒนาต่อเนื่องมานานกว่า 2 ปี และหลังจากที่เราเปิดเฟสการผลิตที่ 2 ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI แล้ว ทำให้ปัจจุบันมีกำลังการผลิตสูงถึง 600 ตัน/วัน สามารถรองรับโรงไฟฟ้าได้อย่างคล่องตัว โดยคาดว่าโรงไฟฟ้าทั้งสองโครงการจะก่อสร้างและพร้อมผลิตได้ภายในปี 2562 ตามกำหนดที่วางไว้”
นายสุวัฒน์ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้จะเห็นการขยายธุรกิจด้านพลังงานของ BWG เด่นชัดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าจากกากอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในหลายรูปแบบ ทั้งโครงการศึกษา และพัฒนาโครงการร่วมกับพันธมิตรที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และการลงทุนด้วยตัวเองผ่านบริษัทย่อย ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับการลงทุนในโครงการก่อนหน้านี้ และโครงการด้านพลังงานที่มีศักยภาพอื่นๆ ในอนาคต
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ประชุมได้มีมติอนุมัติให้ลงทุนในโครงการผลิตกระแสไฟฟ้านิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ของบริษัท รีคัฟเวอรี่ เฮ้าส์ จำกัด มูลค่าโครงการไม่เกิน 900 ล้านบาท และโครงการผลิตกระแสไฟฟ้านิคมอุตสาหกรรมพิจิตร ของบริษัท เอวา แกรนด์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด มูลค่าโครงการไม่เกิน 550 ล้านบาท พร้อมทั้ง อนุมัติตั้งบริษัท เอิร์ธ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (EEC) สำหรับการประกอบธุรกิจให้บริการด้านการออกแบบวิศวกรรม การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ และการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแบบครบวงจร เพื่อรองรับธุรกิจผลิต และจำหน่าย
กระแสไฟฟ้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องถือเป็นการแยกการบริหารจัดการที่ชัดเจนระหว่างธุรกิจผลิต และจำหน่ายกระแสไฟฟ้า และธุรกิจการให้บริการด้านการออกแบบวิศวกรรม การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ และการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแบบครบวงจร (Integrated Engineering Procurement and Construction หรือ Integrated EPC)
“การจัดตั้ง บริษัท เอิร์ธ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ขึ้นมาดูแลธุรกิจรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าเต็มตัว ก็เพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจที่กำลังจะเกิดขึ้น หลังจากที่โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากอุตสาหกรรมของภาครัฐกำลังจะเข้าสู่ขั้นตอนการก่อสร้าง ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้ทันทีตั้งแต่โครงการเริ่มการก่อสร้าง ต่อเนื่องไปจนถึงส่งมอบโครงการ และเชื่อมโยงไปสู่การรับรู้รายได้จากการขายไฟในที่สุด ถือเป็นการประกอบธุรกิจ และรับรู้รายได้อย่างครบวงจร ซึ่งจะสนับสนุนให้ BWG มีรายได้จากธุรกิจพลังงานอย่างมีนัยสำคัญในอนาคตอันใกล้นี้” นายสุวัฒน์ กล่าว