ก.ล.ต.คุมเข้ม บจ.ออกตั๋วบีอี หลังเกิดวิกฤตเบี้ยวชำระหนี้จนส่งผลให้ต้องปรับแผนกู้เงินใหม่ด้วยการออกตั๋วบีอี ที่มีหลักประกันหุ้นกู้ หรือกู้จากสถาบันการเงินแทน พร้อมเตรียมเปิด Regulatory Sandbox ภายใน มี.ค.นี้ ประเดิมกลุ่ม Investment Advisory และ Private Fund คาดใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี ก่อนจะกำหนดเกณฑ์ที่เป็นรูปธรรม “รพี” มั่นใจ 3-5 ปีข้างหน้า “FinTech” จะเข้ามามีบทบาท และพลิกโฉมตลาดทุนไทย
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผย กรณีปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ผิดนัดชำระตั๋วแลกเงิน (B/E) จำนวนมากว่า ปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นการออกตั๋วบีอี นักลงทุนมีความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น ทำให้บริษัทปรับแผนมาออกตั๋วบีอี ที่มีหลักประกันการออกหุ้นกู้ รวมถึงการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินมากขึ้น ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต.ได้ทำหนังสือแจ้งให้ บจ.ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการผิดนัดชำระเกิดขึ้น
ทั้งนี้ ก.ล.ต.จะควบคุมการออกตั๋วบีอี ให้เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นการเปิดเผยข้อมูลตั๋วบีอี เพื่อให้เจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุน และผู้ลงทุนได้ทราบถึงข้อมูลอย่างอย่างชัดเจน และมีความเข้าใจถึงลักษณะของตั๋วบีอี แต่หากนักลงทุนไม่ได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วนสามารถร้องเรียนต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ ก.ล.ต.ได้
“นักลงทุนที่จะร้องเรียนควรจะเตรียมเอกสาร หรือข้อมูลมาให้พร้อม เช่น Fund Fact Sheet หรือคลิปเสียงที่มีการอัดระหว่างเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุน และนักลงทุน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาข้อร้องเรียน” นายรพี กล่าว
ส่วนการปรับตัวของธุรกิจหลักทรัพย์ หลังจากที่ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้นั้น สำนักงาน ก.ล.ต.จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าใจมากขึ้น โดย ก.ล.ต.จะมีการทำวีดีโอคลิป 10 ตอน เผยแพร่ในเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. และส่งให้กับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) และ บจ.ด้วย
สำหรับความคืบหน้าการเปิด Regulatory Sandbox ให้ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ และต้องการต่อยอดทางธุรกิจสามารถนำมาทดสอบแนวคิดกับลูกค้าจริงในขอบเขตจำกัดนั้น ภายในเดือน มี.ค.นี้ จะมีการเปิดให้ผู้พัฒนาเกี่ยวกับการแนะนำการลงทุน (Investment Advisory) และกองทุนส่วนบุคลล (Private Fund) ได้เริ่มทดลองลงสนาม โดยจะใช้ระยะเวลาในการทดลองไม่เกิน 1 ปี
โดยในการทดลอง ก.ล.ต.จะให้สิทธิยกเว้นการปฏิบัติตามเกณฑ์ทุนจดทะเบียน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ในเรื่องดังกล่าวมาทดลอง และเป็นการช่วยให้ทางหน่วยงานกำกับอย่าง ก.ล.ต.ให้สามารถศึกษาแนวทางในการออกกฏเกณฑ์ต่างๆ มาใช้พัฒนาธุรกิจหลักทรัพย์ต่อไป
นายรพี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วง 3-5 ปีต่อจากนี้ ตลาดทุนจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนจากกระแส FinTech ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างครบถ้วน ตอบรับความต้องการของแต่ละคนอย่างเหมาะสม และมีโอกาสเข้าถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่หลากหลายมากขึ้น และได้ผลิตภัณฑ์ที่มีผลงานที่ดี โดยเฉพาะการเลือกซื้อกองทุนรวมที่นักลงทุนจะมีตัวเลือกมาเปรียบเทียบมากขึ้น และสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์กองทุนรวมอื่นๆ ที่ไม่ใช่การขายเฉพาะผลิตภัณฑ์ของกองทุนรวมของ บลจ.ที่เป็นบริษัทของธนาคารพาณิชย์แห่งนั้น เพราะปัจจุบัน ส่วนแบ่งตลาดของกองทุนรวมอยู่ที่ธนาคารพาณิชย์ที่ 91-92%
ขณะเดียวกัน จะช่วยให้บุคคลทั่วไปเข้าถึงการบริการของลูกค้า Private Wealth ได้มากขึ้น ทำให้ลูกค้าทั่วไปมีการจัดพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสม จากเดิมที่ลูกค้าในกลุ่มนี้จะต้องมีเงินลงทุน 50 ล้านบาทขึ้นไป
“การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการที่ FinTech เข้ามามีบทบาท ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนโลก และผลิตโฉมวงการอุตสาหกรรมตลาดทุนด้วย และช่วยให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้น ก.ล.ต. มองว่า บล. และ บลจ.จะต้องมีการปรับตัวใหม่สอดคล้องกับการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยี FinTech” นายรพี กล่าว