xs
xsm
sm
md
lg

สศช.คงคาดการณ์ ศก.ไทยปี 60 เติบโตได้ 3-4% ส่งออกกลับมาขยายตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สศช.คงคาดการณ์ ศก.ไทยปี 60 ขยายตัว 3-4% หลังมีแนวโน้มส่งออกกลับมาขยายตัว รวมถึงการอัดฉีดเงินลงทุนโครงการคมนาคมภาครัฐที่อยู่ระหว่างประกวดราคาอีก 11 โครงการ กว่า 5 แสนล้านบาท

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ปี 2559 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 3.2 ตามที่คาดการณ์ไว้ โดยรายจ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 3.1 และการลงทุนภาครัฐยังขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 9.9 ขณะการลงทุนภาคเอกชนยังชะลอตัวขยายตัวเพียงร้อยละ 0.4 ส่วนเศรษฐกิจไตรมาส 4 ขยายตัวร้อยละ 3 ด้านการส่งออกไตรมาส 4 ขยายตัวร้อยละ 3.6 ทำให้ทั้งปีการส่งออกไม่ขยายตัว หรืออยู่ที่ร้อยละ 0

“จากสมมติฐานที่ทบทวนใหม่แล้ว เรายังคงประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ไว้เท่าเดิมที่ร้อยละ 3-4 ค่ากลางที่ร้อยละ 3.5 แต่มีสัญญาณว่า เศรษฐกิจปีนี้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นจากปี 59 ในหลายปัจจัยหนุน ทั้งเรื่องการส่งออกที่กลับมาขยายตัวอย่างชัดเจนมากขึ้น, การเร่งตัวขึ้นของการผลิตภาคเกษตร, แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง การจัดทำงบรายจ่ายเพิ่มเติม 1.9 แสนล้านบาท และรายได้จากการท่องเที่ยว”

ทั้งนี้ สศช.คงประมาณการเศรษฐกิจปี 2560 จากประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 3-4 ขณะที่ภาคส่งออกจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 2.9 ขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 14.1 ซึ่งประเด็นสำคัญมาจากการเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วนปี 2559 ซึ่งขณะนี้มีโครงการที่เริ่มก่อสร้างแล้ว 4 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 45,000 ล้านบาท และโครงการที่อยู่ระหว่างประกวดราคา 11 โครงการ วงเงิน 532,651 ล้านบาท และโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วนปี 2560 ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างในช่วงครึ่งแรกปี 2560 จำนวน 5 โครงการ วงเงินอีก 54,800 ล้านบาท และจะเริ่มประกวดราคา 25 โครงการ วงเงิน 468,565 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ในปี 60 นี้ยังมีข้อจำกัด และปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นปัจจัยจากต่างประเทศที่จะมีผลต่อความผันผวนของระบบเศรษฐกิจ และการเงินโลก ได้แก่ 1.ทิศทาง และแนวนโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ 2.ผลการเจรจา และความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างอังกฤษ และสหภาพยุโรป 3.เงื่อนไขทางการเมือง และการเลือกตั้งของประเทศสำคัญในสหภาพยุโรป 4.ความคืบหน้าของการเจราในการแก้ไขปัญหาของกรีซ 5.ปัญหาความอ่อนแอของสถาบันการเงินในยุโรป และ 6.ปัญหาเสถียรภาพเศรษฐกิจของจีน

"ความเสี่ยงดังกล่าวยังไม่ใช่ประเด็นลบต่อเศรษฐกิจไทย เพียงแต่เป็นปัจจัยที่หลายฝ่ายต้องติดตาม และประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด" นายปรเมธี ระบุ

เลขาธิการ สภาพัฒน์ กล่าวว่า ประเด็นการบริหารนโยบายที่สำคัญของภาครัฐในปีนี้ คือ 1.การขับเคลื่อนการใช้จ่ายของรัฐบาล และการลงทุนภาครัฐ 2.การสนับสนุนการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัวให้สามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ 3.การสนับสนุนการขยายตัวของการผลิตภาคเกษตร และรายได้เกษตรกร 4.การสร้างความเชื่อมั่น และสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน และ 5.การสนับสนุนการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว
กำลังโหลดความคิดเห็น