วันที่ 7 มีนาคมนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะขึ้นป้าย”เอสพี” พักการซื้อขายใบสำคัญแสดงสิทธิจองซื้อหุ้นสามัญชุดที่3(วอร์แร้นท์3)ของบริษัท ซุปเปอร์บล็อก จำกัด(มหาชน) ชื่อย่อหุ้น “super” ก่อนที่วอร์แร้นท์ตัวนี้จะมีค่าเหลือศูนย์
เพราะคงไม่มีนักลงทุนรายใดนำ ”วอร์แร้นท์วอร์” มาแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญตามการกำหนดครั้งสุดท้าย ในวันที่10 มีนาคมนี้ เนื่องจากราคาหุ้นที่ซื้อขายบนนกระดานยืนอยู่แถว 1.40 บาท แต่ราคาแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญกำหนดไว้ที่ 4 บาท
ซุปเปอร์-w3 จะเป็นวอร์แร้นท์อีกตัวที่สิ้นอายุไข โดยทิ้งความเสียหายอย่างหนักให้นักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนที่แห่เข้าไปเก็ง เพราะวอร์แร้นท์ที่ถือไว้ ไม่ว่าจะซื้อมาที่ต้นทุนราคาเท่าไหร่ จะมีค่าเหลือศูนย์ เงินที่ลงทุนต้องสูญเสียทั้งจำนวน
บริษัท ซุปเปอร์บล็อกฯได้ออกวอร์แร้นท์ชุดที่3 จำนวน2,014,782,930 หน่วย จัดสรรแจกฟรีผู้ถือหุ้นเดิม กำหนดอายุ 23 เดือน 1 วัน สัดส่วนแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ 1วอร์แร้นท์ต่อ1 หุ้นสามัญ ราคาแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ 4 บาท สิ้นสุดอายุวันที่ 31 มีนาคม 2560 โดยเริ่มซื้อขายวันที่ 22 พฤษภาคม 2558
เมื่อเข้ามาซื้อขาย นักลงทุนแห่เก็งกำไร ราคาพุ่งขึ้นไปหลายสิบสตางค์ แต่ในที่สุด ซุปเปอร์-w3 ก็สิ้นใจเหมือนวอร์แร้นท์บริษัทจดทะเบียนโดยส่วนใหญ่
เพราะเริ่มต้นจากศูนย์ สุดท้ายก็จบลงที่ศูนย์ โดยนักลงทุนที่หลงเข้ามาเก็งกำไร ขายออกมาไม่ และถือหุ้นติดมืออยู่ ไม่ว่าจะถือราคาไหนก็ตาม จะต้องขาดทุนทั้งจำนวน หรือขาดทุนถึงขั้นหมดเนื้อหมดตัวได้
หุ้นซุปเปอร์เป็นที่รับรู้กันว่า ไม่ใช่หุ้นธรรมดา แต่เป็นหุ้นร้อน มีข่าวลือมากมาย มีธุรกรรมซื้อขายทรัพย์สินเป็นกิจวัตร มีบริษัทในเครือข่ายยาวเป็นหางว่าว ปี2557 มีการเพิ่มทุนถี่ยิบถึง 7 ครั้ง ผลประกอบการขาดทุนหลายปี เพิ่งจะมีแนวโน้มกำไรปีที่ผ่านมา
ส่วนราคาหุ้นซุปเปอร์ หลังจากไม่มีการสร้าและปล่อยข่าวดีมากระตุ้น ราคาย่อลงมาตลอด เพราะปัจจัยพื้นฐานอ่อนแอ
ซุปเปอร์ออกวอร์แร้นท์มา 2 ชุดก่อนหน้า แต่ราคาแปลงสภาพจูงใจ จึงมีนักลงทุนนำไปแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ ส่วนวอร์แร้นท์ชุดที่3 “กินเรียบ”นักเก็งกำไร
วอร์แร้นท์เป็นตราสารที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการระดมทุนในอนาคต แต่เป็นที่รับรู้กนในตลาดหุ้นว่า วอร์แร้นท์ถูกแปลงเจตนารมณ์ โดยมักถูกบริษัทจดทะเบียนใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างราคาหุ้น หรือใช้เป็นกลไกในการหาเงินของผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทจดทะเบียน
ไม่แต่งต่างจากการตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรในแต่ละบริษัทจดทะเบียน
ผู้ถือหุ้นใหญ่หุ้นตัวใด ต้องการสร้างราคาหุ้น หรือต้องการหาเงินใช้ ก็ประกาศออกวอร์แร้นท์ และหาจังหวะขายออก โกยเงินเข้ากระเป๋า เพราะรู้อยู่แล้วว่า สุดท้ายวอร์แร้น์จะมีค่าเป็นศูนย์ ไม่มีการแปลงสภาพ และสัดส่วน
การถือหุ้นของผู้ถือหุ้นใหญ่ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง
นับตั้งแต่เกิดวอร์แร้นท์ตัวแรก คือวอร์แร้นท์บีบีซีหรือวอร์แร้นท์ธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน มีวอร์แร้นท์นับร้อยตัวแล้วที่ต้องตายไป โดยทิ้งความเสียหายย่อยยับให้นักลงทุน
และแม้จะเป้นที่รับรู้กันว่า วอร์แร้นท์ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปั่นหุ้น เป็นเครื่องมือปั๊มเงินของผู้ถือหุ้นใหญ่ที่มีจิตใจอำมหิต สูบเงินจากนักลงทุนรายย่อย แต่ทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ไม่เคยใส่ใจแก้ปัญหาวอร์แร้นท์แต่อย่างใด
แต่ก้มหน้าก้มตา เชิญชวนนักลงทุนใหม่ๆเข้ามาในตลาดหุ้น ภาคภูมิใจกับมูลค่าตลาดหลักทรัพย์ที่เติบโต หน้าชื่นตาบานกับปริมาณบริษัทจดทะเบียนที่เพิ่มขึ้น โดยไม่ตระหนักถึงความสูญสิ้นของนักลงทุน
ตลาดหลักทรัพย์ฯมีข้อมูลอยู่แล้ว วอร์แร้นท์ที่ออกมาทั้งหมดมีจำนวนเท่าใด ไม่คิดจะศึกษารวบรวมบ้างหรือว่า วอร์แร้นท์สร้างความเสียหายไปขนาดไหน
ทุ่มงบประชาสัมพันธ์ให้คนมาเล่นหุ้นปีละไม่รู้เท่าไหร่ จะเจียดเงินสักนิด รวบรวมความเสียหายวอร์แร้นท์ จัดทำเป็นข้อมูลไว้เตือนสตินักลงทุนให้หลีกเลี่ยงเก็งกำไรวอร์แร้นท์ไม่ได้เชียวหรือ
หรืออย่างน้อย นำบทเรียนความสูญเสียจากซุปเปอร์-w3ที่เกิดขึ้นสดๆร้อนๆ ไปเตือนให้ระวังภัย”วอร์แร้นท์”ก็ยังดี