xs
xsm
sm
md
lg

สศค.แจงยอดปล่อยกู้ตามนโยบายรัฐผ่านแบงก์เฉพาะกิจพุ่งแตะ 9.41 แสนล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สศค.แจงยอดปล่อยกู้ตามนโยบายรัฐผ่านแบง์เฉพาะกิจพุ่งแตะ 9.41 แสนล้านบาท อัดสารพัดโครงการสนองนโยบาย ธ.ก.ส.แชมป์มีภาระผูกพันที่รัฐบาลค้ำประกันตามโครงการรับจำนำผลผลิตการเกษตรรวม 4.4 แสนล้านบาท

รายงานข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินกิจกรรมกึ่งการคลังผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2559 ว่า ผลการดำเนินงานของโครงการนโยบายรัฐผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือพีเอสเอ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ หรือเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ หรือภัยธรรมชาติให้ได้รับสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนโดย ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2559 มียอดสินเชื่อจากโครงการนโยบายรัฐทั้งสิ้นกว่า 9.41 แสนล้านบาท ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา 3.93% หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของโครงการนโยบายรัฐ ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2559 มีทั้งสิ้น 3.31 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.52% ของยอดสินเชื่อคงค้าง

โดยเอ็นพีแอล ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากโครงการรักษาเสถียรภาพราคายางปี 2554/2555 และโครงการมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง เพิ่มเข้ามารวม 2.33 หมื่นล้านบาท แต่ถือว่าภาพรวมมีเอ็นพีแอล ต่ำกว่าภาพรวมของระบบสถาบัน

การเงินเฉพาะกิจซึ่งอยู่ที่ 6.38% นอกจากนี้ สศค.ได้ประมาณการภาระทางการคลังของโครงการนโยบายรัฐ ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ที่รอรับการชดเชยจากรัฐบาล ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2559 มีทั้งสิ้น 2.82 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.45% จากไตรมาสที่ผ่านมา

สำหรับผลการดำเนินงานรายสถาบันของโครงการนโยบายรัฐ ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2559 พบว่าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มียอดสินเชื่อคงค้างสูงที่สุดจำนวน 7.04 แสนล้านบาท ในจำนวนมีภาระผูกพันที่รัฐบาลค้ำประกันตามโครงการรับจำนำผลผลิตการเกษตรรวมทั้งสิ้น 4.4 แสนล้านบาท (ข้อมูล ณ มิถุนายน 2559) ภาระเหล่านี้ถูกนับรวมเป็นหนี้สาธารณะแล้ว รองลงมา คือ ธนาคารออมสิน มียอดสินเชื่อคงค้างกว่า 1.94 แสนล้านบาท

ขณะที่เอ็นพีแอล ของ ธ.ก.ส.มีมูลค่าสูงที่สุดที่ 2.51 หมื่นล้านบาท เอ็นพีแอลส่วนใหญ่มาจากโครงการรักษาเสถียรภาพราคายางปี 2554/2555 จำนวน 1.37 หมื่นล้านบาท และโครงการมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง 9,600 ล้านบาท

นอกจากนี้ หากพิจารณาสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อหนี้ทั้งหมดพบว่า ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) มีสัดส่วนค่อนข้างสูง เนื่องจากกลุ่มลูกค้าเป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่มีความสามารถในการชำระหนี้ต่ำ ไม่มีหลักประกัน และได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ หรือภัยธรรมชาติ

อีกทั้งบางโครงการมีเงื่อนไขที่ไม่ต้องตรวจเครดิตบูโรก่อนการปล่อยกู้ ซึ่งแตกต่างจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่นที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการจ่ายเงินแทนรัฐบาล และการปล่อยกู้ระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล ทั้งนี้ หากยอดเอ็นพีแอล จากโครงการนโยบายรัฐของสถาบันการเงินเฉพาะกิจสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้รัฐบาลมีความเสี่ยงที่จะต้องพิจารณาเพิ่มทุนให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจต่อไป

รายงานข่าวระบุอีกว่า สศค.ได้ประมาณการภาระทางการคลังคงเหลือรอการชดเชยจากรัฐบาลของธ.ก.ส.มีมูลค่ามากที่สุดถึง 2.13 แสนล้านบาท ภาระการคลังส่วนใหญ่มาจากการชดเชยต้นเงินให้กับ ธ.ก.ส.ในโครงการที่ใช้แหล่งเงินทุนจาก ธ.ก.ส.ในการดำเนินงาน เช่น โครงการรับจำนำผลิตผลการเกษตร โครงการประกันรายได้เกษตรกร โครงการสร้างความเข้มแข็งเกษตรกรชาวสวนยาง เป็นต้น รวม 1.98 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 92.81% ของภาระการคลังรอการชดเชยของ ธ.ก.ส.ทั้งหมด

รองลงมา คือ ธนาคารออมสินที่มีภาระทางการคลังคงเหลือรอการชดเชย 4.62 หมื่นล้านบาท เนื่องจากธนาคารออมสิน ยังไม่ได้รับชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้จากโครงการ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟต์โลนที่สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ปี 2558-2559 กว่า 3 หมื่นล้านบาท

สำหรับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มีการค้ำประกันสินเชื่อตามนโยบายรัฐ ทำให้รัฐบาลมีภาระทางการคลังที่ต้องชดเชยเช่นเดียวกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่นๆ จำนวน 1.68 หมื่นล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น