ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการส่งออกของไทยไป CLMV ในปีนี้จะกลับมาฟื้นตัวได้ที่ 3.8% ด้วยมูลค่าการส่งออกราว 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากที่หดตัว 0.1% ในปี 59 ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกหลักของไทยที่อยู่ในระดับต่ำ
อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของการส่งออกในปีนี้เกิดจากแรงหนุนของราคาน้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์ที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นกว่า 20% จากปี 59 และจะยังทรงตัวอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่องในปีนี้ แต่อาจจะไม่ยั่งยืนหากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลดลงในอนาคต และนักลงทุนเข้าไปตั้งฐานการผลิตใน CLMV เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนในระยะข้างหน้า การส่งออกของไทยไปยัง CLMV นอกจากจะต้องเผชิญกับวัฏจักรราคาสินค้าโภคภัณฑ์แล้ว ยังจะต้องเผชิญกับความท้าทายอื่นๆ ซึ่งจะกลายเป็นโจทย์สำคัญมากขึ้น และสะท้อนกลับมาที่ปัญหาเชิงโครงสร้างการส่งออกของไทยไปยังตลาด CLMV ดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า แนวโน้มการชะลอตัวของการส่งออกของไทยไป CLMV ในอนาคต จะมีสาเหตุหลักจากการเข้าไปลงทุนตั้งฐานการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคใน CLMV ของทั้งนักลงทุนไทย และต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยไป CLMV ที่มีสัดส่วนกว่า 24% ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนผลิตเครื่องดื่มในเมียนมา ของนักลงทุนต่างชาติจนส่งผลให้การส่งออกเครื่องดื่ม ซึ่งเคยเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของไทยไปยังเมียนมา หดตัวลงตั้งแต่ปี 58 เป็นต้นมา หรือแม้แต่วัสดุก่อสร้างอย่างปูนซีเมนต์ที่มีนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนใน CLMV ก็อาจทำให้การส่งออกปูนซีเมนต์จากไทยไปยัง CLMV ในปี 60 มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่สอง
ความท้าทายอีกประการหนึ่ง ได้แก่ การที่ไทยยังไม่สามารถเข้าไปเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานในภาคการผลิตของ CLMV จนส่งผลทำให้สัดส่วนการส่งออกไทยไป CLMV มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา CLMV นำเข้าสินค้าจากจีน และเกาหลีใต้ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรมสำหรับการผลิตใน CLMV ที่เป็นการลงทุนโดยตรงของประเทศนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนอุปกรณ์สื่อสาร หรือสิ่งทอ ทำให้เห็นว่า การที่ภาคการส่งออกของไทยไม่มีการเชื่อมกับห่วงโซ่อุปทานใน CLMV โดยเฉพาะในเวียดนาม ดังเช่นที่จีน และเกาหลีใต้ทำ ส่งผลให้ไทยกำลังเสียความสำคัญภายในตลาด CLMV ไป ดังนั้น การพึ่งพาสินค้าโภคภัณฑ์ในการส่งออกที่มีความผันผวนทางด้านราคา การย้ายฐานการผลิตของสินค้าอุปโภคบริโภค และการขาดความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานของ CLMV จึงนับเป็นความท้าทายของการส่งออกไทยไปยัง CLMV ในระยะยาว
ดังนั้น การปรับปรุงการส่งออกทั้งในเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพดังกล่าวจะช่วยปรับโครงสร้างการส่งออกของประเทศให้มีเสถียรภาพมากขึ้น เพราะสัดส่วนสินค้าอุตสาหกรรมที่สูงขึ้นบวกกับการส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง จะช่วยลดทอนความผันผวนจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีต่อมูลค่าการส่งออกของไทย ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกของไทยไปยัง CLMV จะเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ และยั่งยืน หากไทยสามารถเพิ่มการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อเชื่อมการส่งออกเข้ากับห่วงโซ่อุปทานของ CLMV ที่กำลังเติบโต รวมไปถึงส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ทั้งหมดนี้เพื่อปรับปรุงโครงสร้างสินค้าส่งออกของประเทศ ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกของประเทศในตลาด CLMV เติบโตได้ในระยะยาว