นักลงทุนรายย่อยที่แห่เข้าไปเก็งกำไรหุ้นบริษัท สยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น เอสจีเอฟ คงเจ็บปวดใจไปตามๆกัน เพราะไม่เพียงแต่ขาดทุนป่นปี้แล้ว ยังเสียทีนายสมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล ฉายา ”เสี่ยปู่” นักลงทุนขาใหญ่อีกด้วย
เพราะขณะที่นักลงทุนรายย่อยเข้าไปตะลุมบอน แลกหมัดวัดดวงหุ้นตัวนี้จนฝุ่นตลบ เสี่ยปู่ก็ย่องขายหุ้นทิ้ง ตีหัวรายย่อย โกยกำไรกลับไปนอนตีพุงที่บ้านสบายไปแล้ว
ปล่อยให้นักลงทุนรายย่อยต้องผจญชะตากรรม เพราะ ”ติดยอดดอย” กันเป็นแถว
“เอสจีเอฟ” ใช้เวลาประมาณ 9 ปี เพื่อฟื้นฟูการดำเนินงาน ก่อนได้รับอนุมัติให้กลับเข้าไปซื้อขายในตลาดเอ็มเอไอ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
มีการส่งสัญญาณเตือนก่อนหน้าแล้วว่า อย่าผลีผลามตามแห่เก็งกำไรตัวนี้ เพราะหุ้นที่หลุดจากกลุ่มฟื้นฟูการดำเนินงาน มักมีสภาพเป็นผีดิบคืนชีพที่กลับมาไล่ดูดเงินรายย่อย
และเตือนไว้แล้วให้ระวัง เพราะมีขาใหญ่ มีเสี่ยปู่ถืออยู่จำนวน1,965 ล้านหุ้น หรือถือหุ้นสัดส่วน7.50%ของทุนจดทะเบียน เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับสอง โดยหุ้นที่ถือมีต้นทุนเพียงหุ้นละ9.5 สตางค์
หุ้นเอสจีเอฟกลับมาซื้อขายวันแรกด้วยบรรยากาศร้อนแรงสุดเหวี่ยง เปิดซื้อขายที่ราคา 69 สตางค์ ขึ้นไปสูงสุดที่ 76 สตางค์ ต่ำสุดที่ 56 สตางค์ ก่อนปิดที่ราคา 61 สตางค์ มูลค่าซื้อขายคิดเป็นจำนวนหุ้น6,546.64 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นปริมาณหุ้นที่ซื้อขายครึ่งหนึ่งหรือ 50% ของทุนจดทะเบียน คิดเป็นมูลค่าซื้อขายทั้งสิ้น 4,331.60 ล้านบาท
ราคาหุ้นเอสจีเอฟ ปิดครั้งสุดท้าย ก่อนถูกพักการซื้อขายยาว 9 ปีที่ราคาหุ้นละ11 สตางค์ ราคาปิดที่61สตางค์ จึงเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 500%
เสี่ยปู่ไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยนให้เสียโอกาส ชิงเทขายหุ้นออกมาทันที โดยข้อมูลจากก.ล.ต.ระบุว่า เสี่ยปู่และ ”วารุณี ชลคดีดำรงกุล” ขายหุ้นเมื่อวันที่1 กุมภาพันธ์หรือวันแรกที่กลับมาซื้อขายจำนวน3.07%ของทุนจดทะเบียน หรือประมาณ 800 ล้านหุ้น และเหลือหุ้นอยู่3.07% ซึ่งอาจขายทิ้งเกลี้ยงแล้ว เพราะหุ้นส่วนที่เหลือไม่ต้องรายงานข้อมูลก.ล.ต.
ไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมเสี่ยปู่จึงหาเงินง่ายๆในตลาดหุ้น เพราะมีคนประเคนหุ้นต้นทุนต่ำมาให้นี่เอง เพื่อเอาชื่อไปแปะสร้างจุดขาย และใช้เป็นตัวล่อนักเก็งกำไรเท่านั้น
รายการ ”เอสจีเอฟ” คำนวณเฉพาะหุ้นที่ขายในวันแรกจำนวนประมาณ800 ล้านหุ้น สมมุติว่าขายเฉลี่ยหุ้นละ 61 สตางค์ เสี่ยปู่ฟันกำไรเหนาะๆหุ้นละ 50 สตางค์ คูณจำนวนหุ้น800 ล้านหุ้น ฟาดกำไรประมาณ400 ล้านบาท ยังไม่รวมกับหุ้นที่เหลืออีกประมาณ800 ล้านหุ้น ซึ่งน่าจะขายทิ้งหมดแล้ว
ช่วงเวลาเพียงปีเศษ เสี่ยปู่ฟาดกำไรหุ้นจากเอสจีเอฟประมาณ 500% คิดเป็นเงินน่าจะไม่ต่ำกว่าครึ่งพันล้านบาท ส่วนนักลงทุนรายย่อยที่แห่เข้าไปเก็งกำไรหุ้นตัวนี้ กลายเป็นผู้รับเคราะห์
เพราะขาดทุน “ติดหุ้น” ต้องทนแบกหุ้นต้นทุนสูง และได้แต่รอ ”ปาฏิหาริย์” รอความหวังว่าจะมีเจ้ามือกระชากหุ้นตัวนี้กลับขึ้นไปใหม่ ซึ่งโอกาสเป็นไปได้ยากมาก
ความร่ำรวยที่”ขาใหญ่”กอบโกยไปจากการคืนชีพของหุ้นเอสจีเอฟ ความยากจนที่ถูกทิ้งไว้ให้นักลงทุนรายย่อยที่หลวมตัวเข้าไปเก็งกำไรหุ้นที่ฟื้นขึ้นมาจากหลุมตัวนี้ เป็นผลงานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
เป็นผลงานการ”อุ้ม”บริษัทจดทะเบียนที่ตายซาก เปิดโอกาสให้กลับเข้ามาซื้อขายใหม่ และสร้างความเสียหายให้นักลงทุนรายย่อยหนักกว่าเดิม
ประมาณ 15 ปีที่ผ่านมา มีหุ้นที่ตายซาก แต่ถูกจับแต่งตัวใหม่ กลับเข้ามาซื้อขาย และสร้างความเสียหายให้นักลงทุนซ้ำสองแล้วนับสิบๆบริษัท
หุ้นที่เจ๊งคากระดาน หุ้นที่ตายซาก ขาดคุณสมบัติการเป็นบริษัทจดทะเบียน ถ้าตลาดหลักทรัพย์ปล่อยให้ไปที่ชอบๆ เพิกถอนจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนให้พ้นๆ ความเสียหายจะถูกจำกัด เฉพาะผู้ถือหุ้นเดิมจำนวนไม่กี่พันราย
แต่การปล่อยให้หุ้นตายซากกลับมาแจ้งเกิดใหม่ ทำให้นักลงทุนรายย่อยนับหมื่นนับแสนคนต้องขาดทุนป่นปี้
ผู้ถือหุ้นรายย่อยเดิม ”เอสจีเอฟ” มีจำนวนทั้งสิ้น 1,891 ราย แต่หลังจากหุ้นกลับเข้ามาซื้อขายใหม่ จำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยอาจพุ่งไปเป็นเรือนหมื่นคนแล้ว และผู้ถือหุ้นรายย่อยเหล่านี้ กลายเป็นเหยื่อการฟื้นคืนชีพของเอสจีเอฟ
หุ้นกลุ่มฟื้นฟูการดำเนินงาน ไม่ต่างจากหุ้นที่ลุกขึ้นจาก”หลุม” ก่อนถูกนำมา”ย้อมแมว”ขาย ผ่องถ่ายเงินจากนักลงทุนรายย่อยสู่”ขาใหญ่” แต่ทำไมตลาดหลักทรัพย์จึงปล่อยให้โศกนาฏกรรมทำนองนี้เกิดขึ้นซ้ำซาก