ธปท.เผยปี 59 สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์โต 2% ชะลอจาก 4.3% ปีก่อน และต่ำสุดในรอบ 7 ปี ขณะที่เอ็นพีแอล พุ่งขึ้นเป็น 2.83%
นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาพรวมสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 2 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 4.3 ในปี 2558 โดยเป็นการขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี นับตั้งแต่ปี 2552 ที่สินเชื่อหดตัวร้อยละ 1.7 ซึ่งปีดังกล่าวเกิดวิกฤติการเงินสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก
สำหรับสินเชื่อที่ขยายตัวต่ำปีที่แล้ว เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยสินเชื่อธุรกิจขยายตัวร้อยละ 0.6 สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่หดตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ร้อยละ 1.1 สินเชื่อเอสเอ็มอี ขยายตัวร้อยละ 1.8 ชะลอลงจากปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการหดตัวในภาคอุตสาหกรรม และอสังหาริมทรัพย์ โดยพบว่ามียอดการปฏิเสธการอนุมัติสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 52 ในไตรมาส 3 เป็นร้อยละ 55 ในไตรมาส 4 ปี 2559
ด้านสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวร้อยละ 4.9 ชะลอลงจากปีก่อน โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ 6.9 บัตรเครดิต ขยายตัวร้อยละ 5.9 และสินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวร้อยละ 3.8 ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ขยายตัวร้อยละ 1.3 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ส่วนแนวโน้มสินเชื่อปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากช่วงครึ่งหลังของปี 2559 สินเชื่อบางธุรกิจ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ผลิตภัณฑ์ยาง และพลาสติก พาณิชย์ และสาธารณูปโภค ขยายตัวดีขึ้น
ส่วนแนวโน้มสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ปีนี้ คาดว่าธนาคารพาณิชย์จะสามารถบริหารจัดการได้ดีขึ้น หลังจากเห็นสัญญาณเอ็นพีแอล ของธุรกิจขนาดใหญ่เริ่มปรับดีขึ้น ขณะที่เอ็นพีแอลสินเชื่ออุปโภคบริโภคเริ่มทรงตัว แต่ยอมรับว่า เอ็นพีแอลธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมยังสูงขึ้น ซึ่งสาเหตุที่เอ็นพีแอล มีสัญญาณเริ่มดีขึ้น มาจากภาวะเศรษฐกิจขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ขณะที่เอ็นพีแอลคงค้าง ปี 2559 อยู่ที่ 358,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48,100 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอล ในธุรกิจเอสเอ็มอี ส่งผลให้สัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.83 จากร้อยละ 2.55 โดยคุณภาพสินเชื่อภาคพาณิชย์ บริการ อสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง ด้อยลง
ส่วนสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงพิเศษมียอดคงค้าง 358,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43,900 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงพิเศษต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 2.63 จากปีก่อนที่ร้อยละ 2.38 ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์มีการกันสำรองเพิ่มขึ้นเป็น 528,900 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 199,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.6 จากปีที่ผ่านมา โดยยืนยันระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีความมั่นคง มีเงินสำรอง และกองทุนอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามากระทบได้