กนง.นัดแรกของปี มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ตามตลาดคาดการณ์เอาไว้ มองเศรษฐกิจโลกยังเปราะบาง ห่วงความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนนโยบาย “ทรัมป์” กระทบเงินบาทแข็งค่าบางช่วงเวลาจนไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจขณะที่แรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ
รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 8 ก.พ.60 ซึ่งเป็นการประชุมนัดแรกของปีนี้ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี เป็นไปตามที่ตลาดได้คาดการณ์เอาไว้
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการ คณะกรรมการ กนง. เปิดเผยว่า ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯ ประเมินว่า แม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเริ่มชัดเจนมากขึ้น แต่ยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนอยู่มาก โดยเฉพาะจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง และความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อ ด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่า นโยบายการเงินของไทยยังควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อเนื่อง และพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ
“เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดีกว่าที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน แม้ยังเผชิญกับความไม่แน่นอนโดยเฉพาะจากด้านต่างประเทศ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลาย และเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แม้ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับสูงขึ้นบ้าง คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้”
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากการส่งออกสินค้าที่เริ่มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น และภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวเร็วกว่าคาด ขณะเดียวกัน การใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ ส่วนการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด ทั้งผลของนโยบายเศรษฐกิจ และการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ปัญหาเสถียรภาพการเงินจีน และพัฒนาการทางการเมือง และปัญหาภาคการเงินในยุโรป
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในเดือนธันวาคมของปีที่แล้ว และมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับใกล้เคียงกับที่ได้ประเมินไว้ สะท้อนแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ สำหรับอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางของสาธารณชนยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่ากลางของกรอบเป้าหมาย
ด้านภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลาย และเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สะท้อนจากสภาพคล่องในระบบการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับสูงขึ้นบ้างจากปัจจัยทั้งใน และต่างประเทศ
สำหรับด้านอัตราแลกเปลี่ยนในบางช่วงเวลาที่ผ่านมา ความไม่แน่นอนจากเหตุการณ์ในต่างประเทศส่งผลให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นบ้างเมื่อเทียบกับสกุลคู่ค้าคู่แข่งสำคัญ ซึ่งคณะกรรมการฯ มองว่า อาจไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเท่าที่ควร
ทั้งนี้ กนง.ได้ให้ ธปท.ทำสมมติฐานศึกษาผลกระทบจากความไม่แน่นอนจากนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐ เนื่องจากความเสี่ยงจากปัจจัยดังกล่าวเพิ่มขึ้น และส่งผลต่อเงินบาทให้มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นบ้าง ซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเท่าที่ควร ดังนั้น ธปท.จะดูแลการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งการอ่อนค่าและแข็งค่าต้องไม่มีความผิดปกติหรือเก็งกำไร
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ เห็นว่า ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ สามารถรับมือกับความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจการเงินทั้งใน และต่างประเทศได้ค่อนข้างดี แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในบางจุด อาทิ ความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจที่ด้อยลง การผิดนัดชำระหนี้ของตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของบางบริษัท และพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาเป็นเวลานาน ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงของตลาดที่ต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks)