xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลเล็งสร้างดิจิทัลปาร์คแหลมฉบัง รองรับนักลงทุนต่างชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รองนายกฯ "สมคิด" ย้ำ 2 ปี ต้องวางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตครอบคลุม 24,700 หมู่บ้าน หวัง 3 เสาหลัก ไปรษณีไทย กสท และทีโอที ขับเคลื่อน เล็งสร้างดิจิทัลปาร์คแหลมฉบัง รองรับนักลงทุนต่างชาติ มั่นใจผลักดันไทยศูนย์กลางดิจิทัลในภูมิภาค

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มอบนโยบายผู้บริหารและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อต้องการเร่งรัดให้หน่วยที่เกี่ยวข้องร่วมกันวางระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตประชารัฐกระจายไปทุกหมู่บ้าน 24,700 แห่งทั่วประเทศ ภายใน 2 ปี ด้วยเงินลงทุน 15,000 ล้านบาท เพื่อเป็นถนนหลวงทางอินเทอร์เน็ต หวังพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข ให้เป็นสังคมดิจิตอล โดยมีบรอดแบรนด์ขนาดใหญ่ให้บริการอินเทอร์เน็ต ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการเปิดประมูลให้ยื่นราคาภายในวันที่ 10 กุมภาพันธ์นี้ ปลายเดือนเมษายน คาดว่าจะจัดหาผู้รับเหมาเอกชนวางระบบได้ กระทรวงดิจิทัลฯ ยึดหลักความโปร่งใสเป็นหลักในการเปิดประมูล เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางดิจิตอลในภูมิภาค

ที่ประชุมยังรับทราบการใช้ 3 เสาหลัก ทั้งบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เมื่อทีโอที วางระบบเครือข่ายในประเทศแล้ว ในส่วนของ กสทฯ เดินหน้าวางโครงข่ายบรอดแบรนด์ขนาดใหญ่เชื่อมโยงในประเทศเพื่อนบ้านทั้งลาว กัมพูชา เมียนมา มาเลเซีย ด้วยงบลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท เพื่อเชื่อมโยงตลาดไปต่างประเทศ เมื่อโครงข่ายบริการมีความพร้อม ไปรษณีไทยเตรียมเชื่อมโยงตลาดให้กับผู้ประกอบการในชุมชน เอสเอ็มอี ปรับระบบรองรับนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล เช่น เปิดรับฝาก 24 ชั่วโมง ผ่านตู้อัตโนมัติบางจุดเมืองหลัก เพื่อให้เอกชนรายใดที่พร้อมสามารถส่งของได้เลย โดยไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่เปิดทำงาน และปรับระบบรับฝากออนไลน์ การบริการรับส่งสินค้าจากในพื้นที่ สำหรับสินค้าขายผ่านเว็บลาซาด้า โดยไม่ต้องส่งมายังคลังสินค้าของลาซาด้า ในกรุงเทพฯ เพื่อส่งต่อไปให้ลูกค้าอีกครั้ง เพื่อลดภาระค่าขนส่ง

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลฯ มุ่งเน้นพัฒนาดิจิทัลปาร์คบนพื้นที่ 600 ไร่ บริเวณแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา ซึ่งใกล้เคียงกับนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือ สนามบินอู่ตะเภา สถาบันการศึกษา หวังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานวางระบบให้พร้อม เพื่อสร้างเมืองใหม่รองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เพื่อให้นักลงทุนทั้งใน และต่างประเทศเข้ามาใช้บริการดิจิทัลปาร์คดังกล่าว จะมีหน่วยงานรัฐพร้อมให้บริการแบบครบวงจร รวมทั้งสถาบันการเงิน เพื่อดูแลเรื่องทุนขยายธุรกิจ นอกจากนี้ ยังเตรียมระดมนักศึกษา ผู้จบการศึกษาออกให้ความรู้ด้านอินเทอร์เน็ตกับชุมชน (Net ประชารัฐ) เพื่อประจำอยู่ทุกหมู่บ้าน และยังสร้างแรงจูงใจให้มีนักศึกษาคืนถิ่นกลับมาพัฒนาบ้านเกิด

นายพิเชษฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนำร่องพัฒนาภูเก็ต เป็น Smart City เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงทุกหน่วยงาน บริหารจัดการกล้องวงจรปิด การช่วยเหลือฉุกเฉิน ทั้งเมืองจะเป็นระบบดิจิตอล ทั้งบริการภาครัฐ การศึกษา สาธารณสุข การลงทุน การท่องเที่ยว ภายใน 2 ปี กำหนดสร้างเมือง Smart City กระจายไปยังเชียงใหม่ ภูเก็ต ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก
กำลังโหลดความคิดเห็น